วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

การจัดการฐานข้อมูล

การจัดการฐานข้อมูล
       ในการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ ถึงแม้จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพดีแล้วก็ตาม ยังต้องมีชุดคำสั่ง (software) ที่จะควบคุมการทำงานของเครื่องอีกด้วย บุคคลที่ได้คุ้นเคยกับการเขียนชุดคำสั่งด้วยคำสั่งด้วยคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เช่น ภาษาเบสิก ภาษาฟอร์แทรน อาจจะประสบปัญหาการเขียนชุดคำสั่งที่เกี่ยวกับแฟ้มข้อมูล ตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งต้องการประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนของพนักงาน ข้อมูลเกี่ยวกับการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ข้อมูลของระบบสินค้าคงคลัง โดยทั่ว ๆ ไป ในการเขียนชุดคำสั่ง หรือใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อให้ ได้จุดประสงค์ตามความต้องการดังกล่าว อาจจะใช้หลักการทำงานโดยวิธีการจัดแฟ้ม ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่า ระบบการจัดกระทำแฟ้มข้อมูล (file handing system) ดังรูป

ระบบการจัดกระทำแฟ้มข้อมูล


       เราจะต้องเขียนโปรแกรมคำนวณเงินเดือน ซึ่งจะทำการดึงเอาข้อมูลเงินเดือนมาจากแฟ้มที่เก็บข้อมูล เงินเดือนมาทำการประมวลผล ส่วนโปรแกรมจัดทำบัญชี ก็จะต้องติดต่อกับแฟ้มที่เก็บข้อมูลทางบัญชี และโปรแกรมสินค้าคงคลังก็จะเกี่ยวข้องกับแฟ้มข้อมูลสินค้าคงคลัง เมื่อต้องการโปรแกรมเพื่อจุดประสงค์อะไร ก็ต้องเขียนโปรแกรมนั้นขึ้นมาเอง พร้อมกับต้องสร้างแฟ้มข้อมูลเก็บข้อมูลที่ต้องการนำมาประมวลผลอีกด้วย
       เมื่อมาถึงจุดนี้ จะเห็นว่าการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพจริง ๆ อาจต้องจ้างผู้มีความรู้พิเศษทางด้านคอมพิวเตอร์มาทำงานโดยเฉพาะอย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ระบบไมโครคอมพิวเตอร์มีเครื่องทุ่นแรงที่เรียกว่า โปรแกรมสำเร็จ ซึ่งจะช่วยทำงานเฉพาะด้านที่ผู้ใช้ต้องการ โดยผู้ใช้อาจจะใช้เวลาในการเรียนรู้เพื่อใช้งานไม่นานก็สามารถที่จะใช้ทำงานที่ไม่ยุ่งยากได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปรแกรมสำเร็จส่วนใหญ่จะถูกจัดเตรียมขึ้นมาเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานเฉพาะอย่าง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงโปรแกรมสำเร็จซึ่งจะทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลให้เป็นแฟ้มที่มีระเบียบ ง่ายต่อการใช้งาน และช่วยทำให้ผู้ใช้ประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ตามความต้องการได้อย่างรวดเร็ว โปรแกรมเหล่านี้จะใช้ระบบการจัดการฐานข้อมูล หรือที่เรียกว่า ดีบีเอ็มเอส (Data Base Management System : DBMS)
       โปรแกรมสำเร็รที่ใช้ระบบการจัดการฐานข้อมูลนี้ มีความสามารถทางด้านการจัดการแฟ้มข้อมูลมากมาย เช่น การสร้างแฟ้ม การกำหนดความสัมพันธ์ของข้อมูลซึ่งความสัมพันธ์ข้อมูลนี้ สามารถใช้ประมวลผลข้อมูล หลาย ๆ แฟ้มรวมกันเสมือนเป็นแฟ้มใหญ่แฟ้มเดียวได้ มีวิธีการจัดระบบข้อมูลให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สามารถที่จะค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็วและยังหาวิธีการที่จะประหยัดเนื้อที่ของหน่วยความจำซึ่งอาจจะใช้แผ่นบันทึกข้อมูล เป็นที่เก็บข้อมูลของแฟ้มต่าง ๆ
       ดังนั้นเมื่อใช้โปรแกรมสำเร็จ ดีบีเอ็มเอส เข้ามาแทนระบบการจัดแฟ้มดังในรูปจะทำให้ผู้ใช้งานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น การจัดระบบแฟ้มสามารถทำได้โดยผู้ใช้คำสั่งที่ ดีบีเอ็มเอส ได้เตรียมไว้แล้ว เช่น คำสั่งสร้างแฟ้มข้อมูล คำสั่งเพิ่มหรือลดข้อมูล



ตัวอย่างการใช้ระบบการจัดการฐานข้อมูลแทนระบบจัดกระทำแฟ้มข้อมูล

       ข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้ภายในแฟ้มจะถูกจัดสรรด้วยการควบคุมของ ดีบีเอ็มเอสแฟ้มต่าง ๆ เหล่านั้นอาจจะถูกสร้างพร้อมกันครั้งเดียว โดยผู้ใช้เป็นผู้ป้อนข้อมูลเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ มาประมวลผลตามความต้องการ โดยเขียนโปรแกรมด้วยชุดคำสั่งง่าย ๆ ซึ่งระบบ ดีบีเอ็มเอส ได้เตรียมไว้แล้ว จากตัวอย่างในรูปข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือน บัญชีและสินค้าคงคลังได้เก็บรวบรวมไว้ภายในแผ่นบันทึกข้อมูล
       ซึ่งรวมอยู่ภายในแฟ้มชุดเดียวกัน แล้วเขียนโปรแกรมเพื่อคำนวณเงินเดือน จัดทำบัญชี และสินค้าคงคลัง โดยที่โปรแกรมต่าง ๆ จะติดต่อกับข้อมูลภายในแฟ้มโดยผ่านทาง ดีบีเอ็มเอส และถ้าต้องการเขียนโปรแกรมเพื่อประมวลผลตามจุดประสงค์ใหม่ก็สามารถทำได้โดยการเขียนโปรแกรมเพิ่มขึ้น

ลักษณะการจัดสารสนเทศที่ดี
       สมัยก่อน ในศูนย์คอมพิวเตอร์จะเห็นภาพผู้คนนั่งเจาะบัตรคอมพิวเตอร์ให้เป็นรหัสทั้งส่วนที่เป็นข้อมูลหรือโปรแกรม การทำงานในสมัยนั้นส่วนใหญ่ใช้การประมวลผลแบบกลุ่ม โดยนำข้อมูลเก็บไว้ในเทปบันทึก แล้วนำมาประมวลผล เพื่อทำรายงานตามความต้องการ การทำงานในลักษณะประมวลผลแบบกลุ่มก็ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบันโดยเฉพาะงานวิจัย
       การแจ้งผลสอบผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของธนาคาร ต้องมีการค้นหาข้อมูลผลสอบ และตอบให้ทราบทันทีทั้งที่เป็นระบบเสียงพูดและระบบแสดงผลบนจอภาพ เป็นตัวอย่างที่แสดงว่า การทำงานกับระบบฐานข้อมูลเริ่มมีความจำเป็นจะต้องมีการประมวลผลผ่านสายโทรศัพท์ที่เรียกว่า การประมวลผลแบบเชื่อมตรง การประมวลผลแบบนี้ มีการเรียกค้นหาข้อมูลและปรับปรุงแก้ไขข้อมูลได้ตลอดเวลา จึงนิยมใช้กันแพร่หลายมากขึ้น
       ต่อมาไมโครคอมพิวเตอร์ได้เป็นที่นิยม โดยมีขีดความสามารถทางด้านความจุข้อมูลของฮาร์ดดิสก์ (hard disk) เพิ่มขึ้นในขณะที่ราคาลดลง และมีโปรแกรมสำเร็จเกี่ยวกับการจัดการฐานข้อมูลที่ใช้ง่าย ๆ เกิดขึ้นหลายโปรแกรม แนวโน้มการใช้งานประมวลผลข้อมูลด้วยไมโครคอมพิวเตอร์จึงเป็นที่นิยมมากขึ้น
       เทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา วิธีจัดการฐานข้อมูลก็ได็รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ การจัดการฐานข้อมูลจึงเป็นศาสตร์ที่มีการศึกษาเล่าเรียนกันในหลาย ๆ ระดับ การจัดการฐานข้อมูลจะยึดหลักการที่สำคัญคือ

       1) ลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลเป็นแฟ้ม โดยกระจายอยู่ในหลาย ๆ แฟ้ม มักจะพบปัญหาของการปรับแก้ไขข้อมูล เพราะต้องคอยปรับปรุงข้อมูลให้ครบทุกแฟ้ม มิฉะนั้นจะพบกับปัญหาความซ้ำซ้อนของข้อมูล ซึ่งทำให้การบริหารข้อมูลทำได้ยากข้อมูลจึงควรได้รับการออกแบบและเก็บอยู่ในฐานข้อมูลที่ใดที่เดียวเพื่อลดความซ้ำซ้อน
       ในการกำหนดรูปแบบข้อมูลจะต้องทำให้ข้อมูลทั้งฐานข้อมูลเป็นรูปเดียวกัน เช่น การกำหนดข้อมูลชื่อ ให้ใช้ชื่อแล้วเว้นช่องว่างจึงเป็นนามสกุล และมีตำแหน่งต่อท้ายแทนการขึ้นต้น เช่น พ.ท. สมชาย ดีใจ เก็บเป็นสมชาย ดีใจ พ.ท. เป็นต้น เมื่อมีการกำหนดรูปแบบข้อมูลที่ชัดเจน และถือปฏิบัติใช้ทั้งฐานข้อมูลก็จะลดปัญหาการจัดการฐานข้อมูลลงไปได้มาก ทำให้ข้อมูลเป็นกลางและใช้ร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังมีหลายสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนของข้อมูลในฐานข้อมูล ซึ่งจะต้องคำนึงถึงในการออกแบบฐานข้อมูล
       ข้อมูลจะต้องใช้งานได้กับผู้ใช้หลาย ๆ ประเภท หรือหลายแบบ เช่น ข้อมูลในฐานข้อมูลของจังหวัด จะต้องใช้ได้ทุกอำเภอ
       ความต้องการข้อมูลของแต่ละหน่วยงานอาจมีรายละเอียดที่ต่างกัน เช่น แผนกขายต้องการชื่อที่อยู่ของลูกค้าเพื่อติดต่อส่งเสริมการขาย แผนกติดตามหนี้ต้องการได้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติหนี้ค้างของลูกค้าการเรียกชื่อข้อมูล อาจจะเรียกแตกต่างกัน เช่น ชื่อสินค้า อาจเรียกได้หลายอย่างในชื่อสินค้าเดียวกัน
       2) กำหนดมาตรฐานข้อมูล ในการสร้างฐานข้อมูลจะต้องให้ข้อมูลที่จัดเก็บเป็นมาตราฐาน มีการกำหนดรหัสที่เป็นมาตราฐาน มีการกำหนดคำหลัก (keyword) หรือค่าที่ใช้แทนข้อมูลอย่างเดียวกันเพื่อให้ได้ความหมายต่อการใช้งานที่ดี
       3) มีระบบป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลจำเป็นต้องจัดแบ่งระดับความสำคัญของข้อมูลเพื่อกำหนดผู้ใช้ มีการควบคุมข้อมูล เพื่อบ่งบอกว่าใครจะเป็นผู้แก้ไขหรือข้อมูลได้บ้าง มีการบันทึกประวัติการแก้ไขข้อมูลเพื่อตรวจสอบ ข้อมูลที่จัดเก็บนั้นอาจมีความสำคัญ ดังนั้นการแก้ไขหรือปรับปรุงข้อมูลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นอาจทำให้ข้อมูลเสียหายได้
       4) มีความเป็นอิสระจากโปรแกรม ระบบจัดการฐานข้อมูลที่ดีจะต้องเป็นระบบที่ข้อมูล และฐานข้อมูลมีความเป็นอิสระจากโปรแกรม ทำให้สามารถใช้โปรแกรมจัดการฐานข้อมูลใด ๆ จัดการฐานข้อมูลได้ การออกแบบให้ข้อมูลเป็นอิสระนี้ทำให้ข้อมูลใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกรูบแบบ
       5) รวมข้อมูลเป็นฐานข้อมูลกลาง แต่เดิมมีการเก็บข้อมูลแยกเป็นแฟ้มกระจัดกระจาย จึงต้องเก็บข้อมูลด้วยเทป แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถรวบรวมข้อมูลเข้าด้วยกันเป็นฐานข้อมูลกลาง ทำให้ระบบการทำงานใช้ข้อมูลร่วมกันได้
       การดำเนินงานฐานข้อมูลจะต้องมีการจัดการเตรียมฐานข้อมูลและบริหารข้อมูล โดยจัดแบ่งแยก ปรับปรุงข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้องหน้าที่หลักของผู้บริหารฐานข้อมูล จึงประกอบด้วยการจัดเก็บข้อมูล การติดต่อประสานงานกับแหล่งข้อมูลและที่มาของข้อมูล จึงประกอบด้วยการจัดเก็บข้อมูล การติดต่อประสานงานกับแหล่งข้อมูลและที่มาของข้อมูลตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แบ่งกลุ่ม จัดลำดับ กำหนดรหัสข้อมูล สรุปผลทำรายงาน คำนวณเก็บรักษาข้อมูลโดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและเชื่อถือได้ของข้อมูล การค้นหาข้อมูล การสำรวจข้อมูล และเผยแพร่แจกจ่ายข้อมูล













วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software)



ความหมายของซอฟต์แวร์
       การใช้งานระบบสารสนเทศด้วยคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงาน เช่น การซื้อของโดยใช้บัตรเครดิต ผู้ขายจะตรวจสอบบัตรเครดิตโดยใช้เครื่องอ่านบัตร แล้วส่งข้อมูลของบัตรเครดิตไปยังศูนย์ข้อมูลของบริษัทผู้ออกบัตร การตรวจสอบจะกระทำกับฐานข้อมูลกลาง โดยมีกลไกหรือเงื่อนไขของการตรวจสอบ จากนั้นจึงให้คำตอบว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธบัตรเครดิตใบนั้น การดำเนินการเหล่านี้เป็นไปโดยอัตโนมัติตามคำสั่งซอฟต์แวร์
       ทำนองเดียวกันเมื่อซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า พนักงานเก็บเงินจะใช้เครื่องกราดตรวจอ่านรหัสแท่งบนสินค้าทำให้บนจอภาพปรากฏชื่อสินค้า รหัสสินค้า และราคา ในการดำเนินการนี้ต้องใช้ซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้
       ซอฟต์แวร์ คือ ชุดคำสั่งที่สั่งงานคอมพิวเตอร์เป็นลำดับขั้นตอนของการทำงาน ชุดคำสั่งเหล่านี้ได้จัดเตรียมไว้ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์อ่านชุดคำสั่งแล้วทำงานตาม ซอฟต์แวร์จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์จัดทำขึ้น และคอมพิวเตอร์จะทำงานตามคุณลักษณะของซอฟต์แวร์ที่วางไว้แล้วเท่านั้น
       ชนิดของซอฟต์แวร์แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ คือ ซอฟต์แวร์ระบบ (system software) และซอฟต์แวร์ประยุกต์ (application software)

ซอฟต์แวร์ระบบ


       คือซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการจัดการระบบคอมพิวเตอร์ จัดการอุปกรณ์รับเข้าและส่งออก การรับข้อมูลจากแผงแป้นอักขระ การแสดงผลบนจอภาพ การนำข้อมูลออกไปพิมพ์ยังเครื่องพิมพ์ การจัดเก็บข้อมูลเป็นแฟ้ม การเรียกค้นข้อมูล การสื่อสารข้อมูล ซอฟต์แวร์ระบบจึงหมายถึงซอฟต์แวร์ที่ดูแลจัดการอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบ ซอฟต์แวร์ระบบที่รู้จักกันดี คือ ระบบปฏิบัติการ (operating system) เช่น เอ็มเอสดอส ยูนิกซ์ โอเอสทู วินโดวส์ ลีนุกซ์ เป็นต้น
       คอมพิวเตอร์จะทำงานไม่ได้หากปราศจากระบบปฏิบัติการ ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ เราสามารถสั่งงานผ่านระบบปฏิบัติการให้คอมพิวเตอร์คำนวณ ให้แสดงภาพ ให้พิมพ์ข้อความหรือผลลัพธ์ออกมาทางเครื่องพิมพ์ นอกจากนั้นคอมพิวเตอร์ยังทำหน้าที่ประสานงานระหว่างโปรแกรมต่างๆ กับตัวเครื่อง ซอฟต์แวร์ประยุกต์ไม่ว่าประเภทใดล้วนแต่ต้องทำงานบนซอฟต์แวร์ระบบทั้งสิ้น
       เนื่องจากคอมพิวเตอร์จะไม่ทำงาน ถ้าไม่มีระบบปฏิบัติการ การเริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์ทุกครั้งจึงต้องบรรจุ (load) ระบบปฏิบัติการเข้าไว้ในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะให้เครื่องเริ่มทำงานอย่างอื่น



แสดงความสัมพันธ์ระหว่างฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ระบบ ซอฟต์แวร์ประยุกต์ และผู้ใช้



ระบบปฏิบัติการกับการปฏิบัติงานของคอมพิวเตอร์

       ระบบปฏิบัติการทำหน้าที่ประสานงานหรือกำกับดูแลการทำงานของคอมพิวเตอร์ ในการกำหนดว่าจะเก็บโปรแกรมหรือข้อมูลเก็บไว้ในส่วนใดของหน่วยความจำ ดูแลการติดต่อระหว่างส่วนต่างๆ ของคอมพิวเตอร์กับโปรแกรมใช้งานหรือผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ควบคุมการส่งสัญญาณจากคอมพิวเตอร์ขึ้นไปปรากฏบนจอภาพ ควบคุมการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ ตัวอย่างเช่น ควบคุมการแปลสัญญาณจากแป้นพิมพ์ให้เครื่องรับรู้ ควบคุมการบันทึกหรือการอ่านข้อมูลของเครื่องขับแผ่นบันทึก
       นอกจากนี้ ในปัจจุบันการทำงานในลักษณะกลุ่ม และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีบทบาทในการใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างกว้างขวาง ทำให้ระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นมาในระยะหลังๆ จำเป็นต้องมีความสามารถในการทำงานและให้บริการบนเครือข่ายเพิ่มขึ้น โดยระบบปฏิบัติการมีหน้าที่จัดการงานในการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ จัดสรรให้คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อในเครือข่ายสามารถใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ในเครือข่ายร่วมกัน เช่น การใช้งานเครื่องพิมพ์ร่วมกัน และควบคุมดูแลการใช้งานข้อมูลส่วนกลางซึ่งอยู่ในเครื่องที่ทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย โดยสามารถกำหนดสิทธิในการเข้าใช้ข้อมูลของผู้ใช้ที่อยู่ในกลุ่ม มีระบบป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับข้อมูล


ประเภทของระบบปฏิบัติการ
       เนื่องจากระบบปฏิบัติการเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ แต่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันมีสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานทั่วไปจะมีคุณสมบัติและการทำงานที่แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เช่น มินิคอมพิวเตอร์ ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องให้บริการที่ต้องคอยให้บริการและดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นบริวารจำนวนมาก ระบบปฏิบัติการที่ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ประเภทนี้จึงต้องมีความซับซ้อนกว่าระบบปฏิบัติการที่ใช้ในเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ และเราสามารถแบ่งประเภทของระบบปฏิบัติการตามลักษณะการทำงานได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

       (1) ประเภทใช้งานเดียว (single-tasking) ระบบปฏิบัติการประเภทนี้จะกำหนดให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ครั้งละหนึ่งงานเท่านั้น ใช้ในเครื่องขนาดเล็กอย่างไมโครคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบปฏิบัติการดอส

       (2) ประเภทใช้หลายงาน (multitasking) ระบบปฏิบัติการสามารถควบคุมการทำงานพร้อมกันหลายงานในขณะเดียวกัน ผู้ใช้สามารถทำงานกับซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยระบบปฏิบัติการจัดสรรทั้งเวลาและเนื้อที่ที่ต้องใช้ในการประมวลผลคำสั่งของซอฟต์แวร์แต่ละชนิด เช่น แบ่งปันเวลาในการประมวลผลของซีพียู และการแบ่งเนื้อที่ในหน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูลและคำสั่งของซอฟต์แวร์ที่ใช้งาน เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 95 และ 98

       (3) ประเภทใช้งานหลายคน (multiuser) ในหน่วยงานบางแห่งอาจใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ประมวลผล ทำให้ในขณะใดขณะหนึ่งมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์พร้อมกันหลายคน แต่ละคนจะมีสถานีงานของตนเองเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ จึงต้องใช้ระบบปฏิบัติการที่มีความสามารถในการจัดการสูง เพื่อให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถทำงานเสร็จได้ในเวลา ระบบปฏิบัติการในกลุ่มนี้ เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เอ็นที

ตัวอย่างระบบปฏิบัติการ

       เนื่องจากระบบปฏิบัติการจะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างโปรแกรมใช้งาน ดังนั้นระบบปฏิบัติการจึงมีหลายชนิด ปัจจุบันระบบปฏิบัติการที่นิยมใช้งานกันแพร่หลายมีดังนี้

       (1) ระบบปฏิบัติการดอส (Disk Operating System : DOS) บริษัทไอบีเอ็มผลิตเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ขึ้นมาและให้ชื่อว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ได้มอบหมายให้บริษัทไมโครซอฟต์เป็นผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการโดยให้ชื่อว่า พีซีดอส ต่อมาเมื่อไมโครคอมพิวเตอร์แบบนี้เป็นที่แพร่หลาย จึงมีผู้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ซึ่งมีการทำงานแบบเดียวกับไมโครคอมพิวเตอร์ของบริษัทไอบีเอ็ม ไมโครคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะใช้ระบบปฏิบัติการของบริษัทไมโครซอฟท์เช่นกันแต่ใช้ชื่อว่าเอ็มเอสดอส (Microsoft Disk Operating System : MS-DOS) ซึ่งมีการทำงานคล้ายพีซีดอส แต่ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมแล้ว

       (2) ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ (UNIX) เป็นระบบปฏิบัติการประเภทใช้หลายคน และหลายงาน ได้มีผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ให้สามารถใช้กับเครื่องชนิดต่างๆ หลายระบบโดยตั้งชื่อใหม่ เช่น ซีนิกซ์ (Xenix) วีนิกซ์ (Venix) ไมโครนิกซ์ (Micronix) เอไอเอ็กซ์ (AIX) อัลทริกซ์ (Altrix) เป็นต้น ปัจจุบันมีความพยายามจะกำหนดให้ระบบปฏิบัติการที่มีชื่อต่าง ๆ เหล่านี้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โปรแกรมที่พัฒนาภายใต้ระบบยูนิกซ์นี้ มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องขึ้นกับเครื่องแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ

       (3) ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์วินโดวส์ (Microsoft Windows) ระบบปฏิบัติการที่พัฒนาโดยบริษัทไมโครซอฟต์ เป็นระบบปฏิบัติการที่มีลักษณะการใช้งานแตกต่างจาก 2 ระบบแรกที่กล่าวมา เนื่องจากมีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (user interface) เป็นแบบที่เรียกว่าระบบติดต่อผู้ใช้แบบกราฟิก (Graphic User Interface : GUI) หรือที่เรียกว่าจียูไอ คือมีการแสดงผลเป็นรูปภาพ และใช้สัญลักษณ์ในรูปรายการเลือก (menu) หรือสัญรูป (icon) ในการสั่งงานคอมพิวเตอร์แทนการพิมพ์คำสั่งทีละบรรทัด ทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ง่ายขึ้น ทั้งยังมีสีสันทำให้ซอฟต์แวร์น่าใช้งานมากขึ้น


ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่มีระบบติดต่อผู้ใช้แบบจียูไอสั่งงานด้วยสัญลักษณ์แทนการป้อนคำสั่ง



       ระบบปฏิบัติการวินโดวส์นี้เป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมสูงมากในเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ทั่วไป ทั้งนี้นอกจากจะเป็นเพราะความง่ายในการใช้งานที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังเป็นเพราะหลังจากที่บริษัทไมโครซอฟต์ได้ผลิตระบบปฏิบัติการนี้ออกสู่ตลาด ก็ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่สามารถใช้งานบนระบบปฏิบัติการนี้ขึ้นหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ในกลุ่มซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน หรือซอฟต์แวร์นำเสนอข้อมูล ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้ใช้ในทุกๆ ด้าน ทำให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลาย นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ๆ ที่สนับสนุนการใช้งานกับเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วินโดวส์ 3.0 (Windows 3.0) ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่ทำงานบนเครื่องเดียว พัฒนาเป็นรุ่นหรือเวอร์ชั่น (version) ที่สามารถทำงานเป็นกลุ่มหรือเครือข่ายภายในองค์กรที่ใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ และพัฒนาต่อมาเป็นวินโดวส์ 95(Windows 95) วินโดวส์ 98 (Windows 98) วินโดวส์ เอ็มอี(Windows ME) และพัฒนาเป็นระบบปฏิบัติการเครือข่ายที่สามารถจัดการด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์บนเครือข่าย จัดการด้านการใช้งานอุปกรณ์ร่วมกัน และดูแลจัดสรรและรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เช่น วินโดวส์ เอ็นที (Windows NT) วินโดวส์ 2000(Windows 2000) และวินโดวส์ เอ็กซ์พี (Windows XP) หรือแม้แต่ระบบปฏิบัติการสำหรับคอมพิวเตอร์พกพาอย่างวินโดวส์ ซีอี (Windows CE)



หน้าจอซอฟต์แวร์ระบบลินุกซ์ในสภาวะตัวอักษร


       (4) ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux) เป็นระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ระบบหนึ่งเช่นเดียวกับซีนิกซ์หรือวีนิกซ์ ได้รับการพัฒนาโดยนักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยเฮลซินกิประเทศฟินแลนด์ชื่อลีนุซ ทอร์วาลด์ (Linus Torvalds) เขาเริ่มพัฒนาระบบปฏิบัติการดังกล่าวในปี พ.ศ. 2523 ด้วยเขาต้องการพัฒนาระบบปฏิบัติยูนิกซ์ที่มีความสามารถมากกว่าไมนิกซ์ซึ่งเขาใช้งานอยู่ จึงเริ่มต้นพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้เอง โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบจากระบบยูนิกซ์อื่นเลย และในปี พ.ศ. 2534 ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์เวอร์ชั่น 0.010 ก็ได้รับการเผยแพร่ โดยมีการแจกให้ใช้งานฟรีรวมทั้งรหัสต้นแบบ (source code) ก็เป็นที่เปิดเผย จึงเป็นที่นิยมและมีผู้นำไปพัฒนาลีนุกซ์ของตนเองขึ้นใช้งานมากมาย รวมทั้งมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ขึ้นใช้งานบนลีนุกซ์อีกด้วย
       ด้วยเหตุที่มีผู้นำรหัสต้นแบบของระบบปฏิบัติการระบบนี้มาพัฒนาเป็นของตนเองมากมายและเนื่องจากในปัจจุบันแนวคิดของจียูไอกำลังเป็นที่นิยม จึงมีการพัฒนาระบบปฏิบัติการลินุกซ์ให้สามารถทำงานบนระบบเอกซ์วินโดวส์ (X Windows) ซึ่งเป็นระบบที่มีการติดต่อกับผู้ใช้แบบกราฟิก และถือได้ว่าลินุกซ์เป็นยูนิกซ์ที่สมบูรณ์แบบ อีกทั้งเป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถทำงานได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประสิทธิภาพไม่สูงมาก เช่น เครื่องในตระกูล 80386 ได้ และต้องการหน่วยความจำเพียง 2 เมกะไบต์ในการทำงานบนสภาวะตัวอักษร (text mode) หรือ 64 เมกะไบต์ในการทำงานบนเอกซ์วินโดวส์

ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ในสภาวะเอกซ์วินโดวส์


ซอฟต์แวร์ประยุกต์

       ซอฟต์แวร์ประยุกต์ คือซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้น เพื่อประยุกต์กับงานที่ผู้ใช้ต้องการ เช่น ซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์จัดเก็บภาษี ซอฟต์แวร์สินค้าคงคลัง ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน ซอฟต์แวร์กราฟิก ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล เป็นต้น
       การทำงานใดๆ โดยใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ จำเป็นต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมของซอฟต์แวร์ระบบด้วย ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ประมวลคำต้องทำงานภายใต้ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการเอ็มเอสดอสหรือวินโดวส์ เป็นต้น
       ซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกวงการ ความนิยมส่วนหนึ่งมาจาก ขีดความสามารถของซอฟต์แวร์ประยุกต์นั้นๆ เพราะซอฟต์แวร์ที่ผลิตออกจำหน่าย ต่างพยายามแข่งขันกันหลายๆ ด้าน เช่น เรียนรู้และใช้งานได้ง่าย สนับสนุนให้ใช้กับเครื่องพิมพ์ได้ดี มีคู่มือการใช้ซอฟต์แวร์ที่อ่านเข้าใจง่าย ให้วิธีหรือขั้นตอนที่อธิบายไว้อย่างชัดเจน และมีระบบโอนย้ายข้อมูลเข้าออกกับซอฟต์แวร์อื่นได้ง่าย
       ซอฟต์แวร์ประยุกต์มีอยู่มากมาย อาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ คือ ซอฟต์แวร์ใช้เฉพาะทางและซอฟต์แวร์สำเร็จ




ซอฟต์แวร์ใช้เฉพาะทาง


       เป็นโปรแกรมที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาสำหรับนำไปใช้งานเฉพาะด้าน หรือในสาขาใดสาขาหนึ่งตามความต้องการของผู้ใช้ โดยที่ผู้เขียนคือโปรแกรมเมอร์ (programmer) ที่มีความสามารถในการเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ และต้องศึกษาทำความเข้าใจเข้าใจงานและรายละเอียดของการประยุกต์นั้นเป็นอย่างดี เช่น โปรแกรมช่วยจัดการด้านการเงิน โปรแกรมช่วยจัดการบริการลูกค้า ฯลฯ ตามปกติจะไม่ค่อยได้พบเห็นซอฟต์แวร์ประเภทนี้ในท้องตลาดทั่วไป แต่จะซื้อหาได้จากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายในราคาค่อนข้างสูงกว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้งานทั่วไป
       โครงสร้างของซอฟต์แวร์เฉพาะทางมักจะประกอบด้วย ฐานข้อมูลเพื่อใช้เก็บข้อมูลลูกค้า และระบบหลักของงาน ภายในซอฟต์แวร์ควรจะมีส่วนทำงานประมวลคำเพื่อใช้สร้างรายงาน ติดต่อโต้ตอบจดหมาย และการนัดหมายตามกำหนดการ ลักษณะของซอฟต์แวร์เฉพาะทางนี้ มีทั้งรูปแบบที่มีผู้ใช้งานคนเดียว หรือผู้ใช้งานได้พร้อมกันหลายคน
       ในประเทศไทยมีการใช้ซอฟต์แวร์ประเภทใช้เฉพาะทางอยู่บ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นซอฟต์แวร์ที่บริษัทผู้ผลิตต่างประเทศได้ออกแบบมาเพื่อรองรับงานด้านธุรกิจ ในที่นี้ได้รวบรวมจัดประเภทไว้ดังนี้




ตัวอย่างซอฟต์แวร์ใช้เฉพาะทาง

(1) ซอฟต์แวร์ระบบงานด้านบัญชี ได้แก่ ระบบงานบัญชีเจ้าหนี้ บัญชีลูกหนี้ บัญชีสินทรัพย์ถาวรและค่าเสื่อมราคาสะสม บัญชีแยกประเภททั่วไป และบัญชีเงินเดือน


(2) ซอฟต์แวร์ระบบงานจัดจำหน่าย ได้แก่ ระบบงานรับใบสั่งซื้อสินค้า ระบบงานบริหารสินค้าคงคลังและระบบงานประวัติการขาย

(3) ซอฟต์แวร์ระบบงานในโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ ระบบงานกำหนดโครงสร้างผลิตภัณฑ์ การวางแผนกำลังการผลิต การคำนวณต้นทุนของงาน การประเมินผลงานของพนักงาน การวางแผนการผลิตหลัก การวางแผนความต้องการวัสดุ การควบคุมการทำงานภายในโรงงาน การกำหนดเงินทุนมาตรฐานสินค้าและการกำหนดขั้นตอนการผลิต

(4) ซอฟต์แวร์อื่นๆ ได้แก่ ระบบการสร้างรายงาน การบริหารการเงิน การเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ และการเช่าซื้อรถยนต์

ซอฟต์แวร์สำเร็จ
       เป็นซอฟต์แวร์ที่มีบริษัทผู้ผลิตได้สร้างขึ้น และวางขายทั่วไป ผู้ใช้สามารถหาซื้อมาประยุกต์ใช้งานทั่วไปได้ ซอฟต์แวร์ประเภทนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะสำหรับงานใดงานหนึ่ง ผู้ใช้งานจะต้องเป็นผู้นำไปประยุกต์กับงานของตน ผู้ใช้อาจต้องมีการสร้างหรือพัฒนาชิ้นงานภายในซอฟต์แวร์ต่อไปอีก ราคาของซอฟต์แวร์ใช้งานทั่วไปนี้จะไม่สูงมากเกินไป






ตัวอย่างซอฟต์แวร์สำเร็จ

       ซอฟต์แวร์ใช้งานทั่วไปซึ่งนิยมเรียกว่า ซอฟต์แวร์สำเร็จ แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มตามลักษณะการใช้งานคือ

(1) ด้านการประมวลคำ

(2) ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล หรือตารางทำงาน

(3) ด้านการเก็บและเลือกค้นข้อมูลเป็นระบบฐานข้อมูล

(4) ด้านกราฟิก และนำเสนอข้อมูล

(5) ด้านการติดต่อสื่อสารทางไกล

(6) ด้านการพิมพ์ตั้งโต๊ะ

(7) ด้านการลงทุนและจัดการการเงิน

(8) ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม

(9) ด้านการจำลอง เกม และการตัดสินใจ

        ในบรรดาซอฟต์แวร์สำเร็จที่มีหลายกลุ่มนี้ กลุ่มซอฟต์แวร์ที่มีการใช้งานมากและจำเป็นต้องมีประจำหน่วยงาน มักจะเป็นรายการแรก คือ ด้านการประมวลคำ ด้าน ตารางทำงาน ด้านระบบฐานข้อมูล และด้านกราฟิกซอฟต์แวร์สำเร็จส่วนใหญ่เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์เชิงพาณิชย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ยกเว้นเฉพาะกลุ่มแรก คือ โปรแกรมประมวลคำที่ประเทศไทยมีการสร้างและพัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานร่วมกับภาษาไทย และยังมีการนำซอฟต์แวร์เดิมมาดัดแปลงและเพิ่มเติมส่วนที่ใช้งานเป็นภาษาไทย


ซอฟต์แวร์ประมวลคำ
       ซอฟต์แวร์ประมวลคำเป็นซอฟต์แวร์ในการนำตัวอักษรมาเรียงต่อเป็นคำ ประโยคหรือย่อหน้า คล้ายการใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์ข้อความบนกระดาษ แต่ต่างกันที่ตัวอักษรที่พิมพ์หรือป้อนเข้าทางแผงแป้นอักขระจะเข้าไปเก็บอยู่ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถแก้ไขดัดแปลงได้ง่าย ภายใต้ข้อกำหนดของซอฟต์แวร์ผู้ใช้สามารถกำหนดปรับแต่งรูปแบบได้ตามต้องการ เช่น การกำหนดเส้นกั้นหน้าและกั้นหลัง กั้นบนและกั้นล่าง เมื่อมีการแก้ไขจนเป็นที่พอใจแล้ว สามารถสั่งพิมพ์เอกสารออกทางเครื่องพิมพ์ได้หลายชุดตามที่ต้องการ เอกสารที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ จะมีคุณภาพดีไม่มีรอยเปื้อนจากการแก้ไขดัดแปลง




                                   เป็นซอฟต์แวร์ประมวลคำที่พัฒนาโดยคนไทยชื่อโปรแกรมปลาดาว


เป็นซอฟต์แวร์ของบริษัทไมโครซอฟต์ซึ่งเป็นที่นิยมใช้มากในปัจจุบัน

       นอกจากนี้ยังสามารถเก็บบันทึกเอกสารนั้นเป็นแฟ้มในสื่อบันทึก เช่น แผ่นบันทึก เพื่อให้พกพาติดตัวไปใช้กับเครื่องอื่น แฟ้มเอกสารที่เก็บไว้แล้วนี้สามารถเรียกมาแสดงผลบนจอภาพเพื่อทำการดัดแปลงใหม่ได้อีกด้วย
       ลักษณะการใช้งานซอฟต์แวร์ประมวลคำจะเป็นการเตรียมเอกสารที่มองเห็นงานพิมพ์ไปปรากฎที่จอภาพ ถ้าพิมพ์ผิดและต้องการแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดทอนที่ตำแหน่งใด จะต้องเคลื่อนย้ายตัวชี้หรือตัวกะพริบบนจอภาพไปยังตำแหน่งนั้นเพื่อทำการแก้ไข เนื่องจากสามารถแทรกหรือลบตัวอักษรหรือข้อความได้ตลอด และโปรแกรมจะคงรูปแบบให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ จึงทำให้ไม่เสียเวลาและสิ้นเปลืองเหมือนการพิมพ์เอกสารด้วยเครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งถ้ามีข้อผิดพลาดจะต้องพิมพ์ใหม่


       ซอฟต์แวร์ประมวลคำ มีคุณสมบัติเด่นกว่าการเตรียมเอกสารด้วยเครื่องพิมพ์ดีดหลายประการ อาจจะสรุปได้ดังนี้

(1) สามารถควบคุมสั่งจัดวางรูปแบบเอกสารได้ใหม่ตามต้องการ โดยจะพิมพ์ผลลัพธ์ออกมาตามรูปแบบที่กำหนด เช่น การกำหนดจำนวนตัวอักษรในแต่ละบรรทัด การกำหนดตำแหน่งเริ่มต้นและตำแหน่งบรรทัด เป็นต้น

(2) ช่วยควบคุมให้แก้ไขดัดแปลงข้อความเป็นกลุ่ม คือสามารถสั่งทำการลบ เคลื่อนย้าย หรือสำเนาข้อความเป็นคำ ประโยคหรือย่อหน้า จากตำแหน่งหนึ่งไปยังตำแหน่งอื่นของเอกสารได้ง่าย

(3) สามารถควบคุมการแสดงตัวอักษรของข้อความที่อาจเป็นตัวเข้ม ตัวหนา ตัวเอียงและขีดเส้นใต้ที่ตำแหน่งต่างๆ ได้อย่างอิสระ การพิมพ์เอกสารออกทางเครื่องพิมพ์จะได้แบบของตัวอักษรที่สวยงามตามต้องการ

(4) เอกสารที่จัดเตรียมไว้สามารถทำการจัดเก็บลงในแผ่นบันทึกในรูปของแฟ้มข้อมูล และสามารถเรียกแฟ้มนั้นจากแผ่นบันทึกกลับมาลงหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อทำการแก้ไขข้อความบนจอภาพได้ทันที

(5) มีคำสั่งในการเรียกค้นคำหรือข้อความที่มีอยู่ในเอกสารได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้สามารถแก้ไขดัดแปลงได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น นอกจากการเรียกค้นแล้ว ยังสามารถสั่งให้มีการแทนที่คำหรือข้อความเดิมด้วยข้อความใหม่ได้ทันทีอย่างอัตโนมัติ เช่นการเปลี่ยนข้อความจาก “คอมพิวเตอร์” เป็น “ไมโครคอมพิวเตอร์” ในทุกๆ แห่งที่พบในเอกสารนั้น เป็นต้น

(6) มีคุณสมบัติให้สามารถทำการเชื่อมแฟ้มข้อความที่อาจเป็นจดหมายกับแฟ้มข้อมูลที่เป็นชื่อหรือที่อยู่บริษัท เพื่อทำการพิมพ์เอกสารลักษณะแบบเดียวกันหลายๆ ชุดพร้อมกัน เช่น การส่งจดหมายเชิญประชุมถึงผู้จัดการบริษัทต่างๆ จำนวนมาก โดยเนื้อหาของข้อความในจดหมายทุกฉบับเหมือนกัน ต่างกันที่ชื่อบริษัท ซอฟต์แวร์ประมวลคำจะพิมพ์จดหมายให้เองครบทุกฉบับด้วยการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทเท่านั้น
       ลักษณะพิเศษที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นเกณฑ์มาตรฐานทั่วไปของซอฟต์แวร์ประมวลคำ ในปัจจุบันซอฟต์แวร์ได้มีการพัฒนาให้ทำงานได้มากขึ้น ใช้งานได้สะดวกขึ้น ซอฟต์แวร์ประมวลคำยุคใหม่ก็ได้มีการพัฒนาเพิ่มคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมาก คุณลักษณะที่เพิ่มขึ้นได้แก่

(1) การช่วยงานด้านการตรวจสอบตัวสะกด โดยเปรียบเทียบข้อมูลกับพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เก็บในรูปของแฟ้ม ถ้ามีการสะกดผิดก็จะมีคำที่คาดว่าถูกต้องแสดงให้เลือกพิจารณานำมาแทนที่

(2) การแสดงความหมายของคำต่างๆ ที่มีเก็บในพจนานุกรมเรียบร้อยแล้ว และการเลือกคำพ้องความหมายมาแทนที่คำเดิม

(3) การสร้างข้อมูลในรูปแบบตารางได้ง่ายและสะดวก

(4) การนำรูปภาพมาผสมรวมกับข้อมูลที่มีแต่ตัวอักษร โดยจะทำงานอยู่ในภาวะกราฟิก พิมพ์ได้ทั้งตัวอักษรและรูปภาพ เราสามารถเลือกชุดแบบตัวอักษรได้หลายแบบ

(5) การช่วยงานด้านการตรวจสอบรูปแบบหรือรูปแบบของประโยค ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบไวยากรณ์ทางภาษา และวิเคราะห์ความน่าอ่านหรือความสละสลวยของเอกสาร วิธีการของการตรวจสอบนี้จะใช้หลักวิชาทางปัญญาประดิษฐ์ว่าด้วยกฎและข้อเท็จจริงของภาษาศาสตร์ ซึ่งรูปแบบของประโยคที่โปรแกรมสามารถวิเคราะห์ได้ในปัจจุบัน จะยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะที่ใช้งานในวงการบริหารธุรกิจเท่านั้น


ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน

      
       การวิเคราะห์และคำนวณตัวเลขของผู้ใช้ ด้วยการสร้างเป็นรูปแบบจำลองในลักษณะของสูตรคำนวณและสมการทางคณิตศาสตร์ มักมีการขีดเขียน คำนวณ และจดบันทึกลงในกระดาษ โดยมีเครื่องคิดเลขเป็นเครื่องมือช่วยในการคำนวณ การคำนวณตามงานที่ออกแบบหรือการค้นหาคำตอบของรูปแบบจำลองสมการที่สร้างขึ้น นับเป็นงานที่น่าเบื่อและต้องใช้ความอดทนมากพอสมควร เพราะผู้ใช้จะต้องทำการคำนวณใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง ตามการแปรเปลี่ยนอย่างไม่หยุดนิ่งขององค์ประกอบหรือปัจจัยสำคัญของงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากงานนั้นเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินด้วยแล้ว การคำนวณต่างๆ ก็ต้องยิ่งระมัดระวังให้มีการตรวจทานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและแม่นยำ

       ซอฟต์แวร์สำเร็จตารางทำงาน หรือกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเครื่องมือช่วยเพื่อการวิเคราะห์และคำนวณตัวเลขให้กับผู้ใช้ได้อย่างดี เพราะการใช้งานซอฟต์แวร์นี้ จะเปรียบเหมือนกับการนั่งทำงานอยู่บนโต๊ะทำงาน ที่มีกระดาษแผ่นใหญ่ๆ ประกอบด้วยตารางสี่เหลี่ยมของช่องตามแนวแถวและสดมภ์จำนวนมากมายปรากฏบนจอภาพ โดยแต่ละช่องบนตารางทำงาน



       ภายในซอฟต์แวร์ตารางทำงานจะมีฟังก์ชันต่างๆ จัดมาให้เลือกใช้เรียบร้อยแล้ว เช่น ฟังก์ชันการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ฟังก์ชันการคำนวณทางสถิติ ฯลฯ ซึ่งฟังก์ชันเหล่านี้เปรียบได้กับเครื่องคิดเลขที่วางบนโต๊ะทำงาน ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลจากช่องต่างๆ บนตารางเป็นตัวแปรของฟังก์ชันหรือสูตรคำนวณ เพื่อคำนวณให้ได้ผลลัพธ์ออกมา และนำไปใช้ในการคำนวณของช่องอื่นๆ ต่อไปได้อีก

รูปแสดงความสามารถของซอฟต์แวร์ตารางทำงานในการวิเคราะห์ข้อมูลจากรูป (บน)และแสดงในรูปของแผนภูมิดังรูป (ล่าง)

       ข้อมูลในช่องต่างๆ บนตารางทำงานสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยง่ายด้วย การสั่งงานตามคำสั่งที่ปรากฏบนรายการเมนู ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนี้เปรียบได้กับการมียางลบที่ทำการลบ แล้วบันทึกค่าลงไปใหม่ ถ้าตารางทำงานนี้ไม่ถูกต้องใช้งานไม่ได้ ผู้ใช้อาจลบทั้งตารางและสร้างใหม่เหมือนการขยำกระดาษโยนใส่ถังขยะทิ้งไป แต่ถ้าตารางทำงานนี้ใช้งานได้ดีแล้ว ผู้ใช้ก็สามารถทำการบันทึกข้อมูลไว้ในแผ่นบันทึกเพื่อนำมาใช้งานใหม่ภายหลัง
       ขีดความสามารถพิเศษของตารางทำงานมีมากมาย เช่น สามารถแสดงรายงานต่างๆ ในรูปแบบที่สวยงาม พิมพ์เป็นกราฟิกรูปภาพ หรือการแสดงผลอื่นๆ
       ในสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศยุคปัจจุบัน ข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากจะต้องมีการจัดเก็บ และเรียกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การรวบรวมและเก็บข้อมูลไว้ด้วยกันจะช่วยให้การเรียกค้นเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงทำได้ง่าย ซึ่งการรวบรวมข้อมูลเข้าด้วยกันนี้เรียกว่า ฐานข้อมูล ประโยชน์ของการใช้ฐานข้อมูลจะช่วยให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกัน ช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่จะเกิดขึ้น ช่วยขจัดความขัดแย้งของข้อมูลและสามารถกำหนดความเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ง่าย เป็นต้น

       ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลช่วยให้ผู้ใช้ดำเนินการจัดการข้อมูลได้ง่าย และมีให้เลือกใช้ได้หลายซอฟต์แวร์ โดยเน้นให้ผู้ใช้สามารถสร้างแฟ้มข้อมูล ช่วยในการจัดเก็บ การขอดู การเรียกค้น การเพิ่มเติม การลบ การจัดเรียง และการทำรายงาน

ตัวอย่างซอฟ์แวร์จัดการฐานข้อมูล สามารถสร้างตารางเก็บข้อมูล
แบบฟอร์มสำหรับป้อน แสดงผล และแก้ไขข้อมูล และแบบสอบถามสำหรับสืบค้นข้อมูล


       การจัดเก็บข้อมูลภายใต้การทำงานของซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล เป็นเรื่องทางเทคนิคภายในที่ยุ่งยากซับซ้อน ผู้ใช้งานฐานข้อมูลทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเข้าใจ เพราะซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลจะดำเนินการให้เอง นอกจากนี้ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลยังสามารถควบคุมความถูกต้องของข้อมูลในฐานข้อมูล ข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูลจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ความถูกต้อง เช่น เมื่อกำหนดว่าพนักงานของบริษัทแต่ละคนจะทำงานได้เพียงแผนกเดียว พนักงานนั้นจะมีชื่อไปปรากฏสังกัดแผนกอื่นมากกว่าหนึ่งไม่ได้ หรืออายุของพนักงานจะมีค่ามากกว่า 100 ปี ไม่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ความถูกต้องของข้อมูลจะรวมถึงว่า ข้อมูลในฐานข้อมูลจะต้องสอดคล้องหรือไม่เกิดการขัดแย้งกัน เช่น วันเกิดของพนักงานที่แสดงไว้ในที่ต่างๆ จะต้องบันทึกไว้ตรงกัน
       ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลจะต้องมีคำสั่งซึ่งอาจเลือกได้จากเมนูรายการคำสั่ง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในการควบคุมการทำงาน เมื่อมีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้แล้ว ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลจะทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมความถูกต้องให้กับผู้ใช้ ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลมีมากมายหลายโปรแกรม ส่วนใหญ่เน้นการใช้งานที่ง่ายและใช้งานในระดับตั้งแต่ผู้ใช้คนเดียว หรือเชื่อมโยงเป็นกลุ่ม ตลอดจนเชื่อมต่อฐานข้อมูลอื่น ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลที่รู้จักกันดี ได้แก่ แอกเซส ออราเคิล อินฟอร์มิกซ์ มายเอสคิวแอล เป็นต้น

ซอฟต์แวร์นำเสนอ


       การนำข้อมูลตัวเลข โดยปกติจะอยู่ในรูปของตาราง เป็นแถวและสดมภ์ ซึ่งไม่ใช่วิธีนำเสนอข้อมูลที่ดี เพราะการนำเสนอข้อมูลในรูปตารางไม่ดึงดูดความสนใจ และตีความข้อมูลตัวเลขได้ลำบากไม่สมบูรณ์ การแปลงข้อมูลตัวเลขให้อยู่ในรูปภาพและแผนภูมิจะเป็นวิธีที่ดีและมีประสิทธิภาพสูง เพราะการนำเสนอข้อมูลด้วยวิธีนี้จะดึงดูดความสนใจสื่อความหมายได้กระจ่างชัด และเข้าใจง่าย
       ในปัจจุบันนิยมนำข้อมูลมาเขียนเป็นแผนภูมิหรือนำข้อมูลมาวิเคราะห์คำนวณตัวเลขทางสถิติ ได้ข้อมูลตัวเลขชุดใหม่ แล้วจึงค่อยนำมาสร้างเป็นแผนภูมิ ซึ่งแผนภูมิที่ได้นี้จะนำไปเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงเพื่อใช้วางแผนและตัดสินใจ หรืออาจใช้เพื่อนำเสนอบุคคลทั่วไป เพื่อการประชาสัมพันธ์ แผนภูมิทางธุรกิจเพื่อการนำเสนอมักมีการจัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพราะจะต้องให้เข้าใจง่าย ดึงดูดความสนใจผู้พบเห็น



       ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ด้านกราฟิกให้เลือกใช้มาก ซึ่งซอฟต์แวร์เหล่านี้มักจะเน้น การใช้งานที่ง่ายและสะดวก มีชนิดของแผนภูมิให้เลือกใช้หลายแบบตามความเหมาะสมของข้อมูล การปรับแต่งและจัดรูปแบบแผนภูมิใหม่สามารถทำได้ง่ายด้วยคำสั่งเพียง 1 หรือ 2 คำสั่ง นอกจากนี้ยังสามารถโอนย้ายข้อมูลจากซอฟต์แวร์สำเร็จอื่น เช่น จากระบบฐานข้อมูลและตารางทำงาน มาแสดงแผนภูมิได้ด้วย



ตัวอย่างงานที่สร้างจากซอฟต์แวร์นำเสนอ
ที่มีการแทรกรูปภาพทำให้งานนำเสนอน่าสนใจมากขึ้น

       แผนภูมิที่ได้จากซอฟต์แวร์สำเร็จข้างต้นให้ผลของภาพชัดเจน และละเอียดดี ไม่แพ้ภาพของแผนกศิลป์ การสร้างปรับแต่งภาพ ก็สามารถทำได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยังสามารถเก็บภาพที่ได้ใส่ไว้ในแผ่นบันทึกในรูปของแฟ้มข้อมูล และนำผลออกทางเครื่องพิมพ์ เครื่องวาดรูป หรือออกเป็นภาพสไลด์ก็ได้
       ซอฟต์แวร์ด้านกราฟิกแบ่งได้หลายประเภทของการใช้งาน เช่น ทางธุรกิจ ทางการออกแบบ ซอฟต์แวร์กราฟิกเชิงธุรกิจจะช่วยในงานด้านวิเคราะห์และเสนอข้อมูลในรูปของแผนภูมิ โดยสามารถปรับแต่งรูปแผนภูมิให้สวยงามเพื่อนำเสนอและจูงใจผู้ชม
       โดยทั่วไปแล้วซอฟต์แวร์ด้านนี้จะสามารถสร้างแผนภูมิหลักที่สำคัญต่อไปนี้ได้คือแผนภูมิแท่ง แผนภูมิแท่งซ้อน แผนภูมิแท่งเหลื่อมทับ แผนภูมิวงกลม แผนภูมิวงกลมแยกส่วน กราฟเส้นตรง แผนภูมิกระจัดกระจาย แผนภูมิพื้นที่และแผนภูมิสูงต่ำ
       ในการปรับแต่งรูปแผนภูมิ สามารถกำหนดข้อความ หัวเรื่อง ข้อความอธิบายแกนเลือกขนาดและชุดแบบอักษร เลือกสีหรือแถบระบายของแท่งหรือชิ้นส่วนแผนภูมิ และแทรกภาพสัญลักษณ์เข้ารวมในรูปแผนภูมิ นอกจากนี้ในการรับข้อมูลเข้า สามารถเลือกรับจากแผงแป้นอักขระ จากแฟ้มข้อมูล หรือจากโปรแกรมสำเร็จอื่น เช่น รับแฟ้มตารางทำงานมาปรับแต่งแผนภูมิให้ดีขึ้นได้ เพิ่มความสะดวกในการใช้งานกราฟิกเชิงธุรกิจอีกด้วย

ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิก

       ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิกเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่เหมือนกระดาน หรือสมุดวาดเขียนที่ผู้ใช้สามารถสร้างภาพเขียนได้ และมีอุปกรณ์ที่ช่วยในการวาดรูปเช่น ปากกาช่วยวาดลายเส้น พู่กันระบายสี และยางลบช่วยลบลายเส้นหรือสีที่ไม่ต้องการได้


ตัวอย่างการกวาดภาพโดยใช้ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิก



                              ตัวอย่างการตกแต่งภาพ ตัดต่อภาพโดยใช้ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิก


       นอกจากนี้สามารถนำแฟ้มข้อมูลที่เป็นรูปภาพที่ถ่ายโดยใช้กล้องถ่ายรูปดิจิตอลมาแก้ไข หรือตกแต่งได้ โดยซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิกมีเครื่องมือที่สามารถปรับเปลี่ยนความเข้มของแสง ปรับเปลี่ยนความแตกต่างของสีวัตถุในภาพ และสามารถตัดแปะองค์ประกอบของภาพหลายๆ ภาพมาสร้างเป็นภาพใหม่ได้เหมือนการสร้างศิลปะ นอกจากนี้ ยังสามารถเปลี่ยนลักษณะของภาพ ลักษณะของสีให้มีพื้นสีแบบต่างๆ ได้ ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิกที่เป็นที่นิยมเช่น โฟโตชอป เพนท์บรัช เพนท์ชอป
       ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิกบางโปรแกรม สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์นำเข้าสแกนเนอร์ เพื่อจัดการนำแปลงข้อมูลรูปภาพให้เป็นข้อมูลแบบดิจิตอล และจัดเก็บข้อมูลในรูปของแฟ้มข้อมูลเพื่อนำมาแก้ไขต่อไป
ซอฟต์แวร์ติดต่อสื่อสาร


       เมื่อระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ทำงานและการใช้งานคอมพิวเตอร์ของมนุษย์มากขึ้น และมีบริการหรือการประยุกต์ทำงานหลายๆ อย่างบนระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากซีกโลกหนึ่งสามารถเลือก ค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลในอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้การติดต่อสื่อสารไม่ว่าในรูปของการส่งข้อความหรือการติดต่อด้วยเสียงก็สามารถทำได้ ความสะดวกสบายเหล่านี้ล้วนแต่ต้องอาศัยซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ทำหน้าที่จัดการทั้งสิ้น ซอฟต์แวร์ประยุกต์ในกลุ่มติดต่อสื่อสารที่มีใช้งานเป็นหลักในสังคมปัจจุบันคือซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บ (web browser)


ตัวอย่างการใช้งานซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บ
สืบค้นสารสนเทศที่เผยแพร่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

       ซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถสืบค้น และแสดงสารสนเทศที่นำเสนอในรูปของเว็บเพจ (web page) ได้ โดยที่สารสนเทศดังกล่าวอาจจะเป็นสารสนเทศที่เก็บอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บรรจุซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บหรืออยู่ที่เครื่องแม่ข่าย (web server) ที่ให้บริการเผยแพร่สารสนเทศบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สารสนเทศเหล่านั้นอาจอยู่ในรูปของข้อความ รูปภาพ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว โดยซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บมีหน้าที่ติดต่อกับระบบเก็บข้อมูลที่เครื่องแม่ข่าย รับคำสั่งจากเครื่องที่ใช้งานอยู่แล้วเรียกดึงข้อมูลที่อยู่ในเครื่องแม่ข่ายมาแสดงผลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน และนอกจากนี้ซอฟต์แวร์ชนิดนี้สามารถช่วยให้ผู้ใช้ถ่ายโอนข้อมูลระหว่างเครื่องแม่ข่ายและลูกข่ายได้ ทั้งการส่งข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่จากเครื่องลูกข่ายไปยังเครื่องแม่ข่ายที่เรยกว่าการบรรจุขึ้น (upload) และการถ่ายโอนข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการจากเครื่องแม่ข่ายมาไว้ในเครื่องลูกข่ายที่เรียกว่าการบรรจุลง (download) และในปัจจุบันผู้ใช้สามารถรับ-ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางซอฟต์แวร์ชนิดนี้ได้อีกด้วย
       การค้นสารสนเทศโดยใช้ซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บนี้มีด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ การสืบค้น (browse) ซึ่งเป็นการเปิดดูเอกสารที่นำเสนออยู่บนเว็บไปเรื่อยๆ โดยเอกสารเหล่านั้นมีการเชื่อมโยง (link) กันอยู่ผู้ใช้สามารถค้นข้อมูลได้โดยการเลือกเปิดดูเอกสารตามการเชื่อมโยงเหล่านั้นและอีกแบบหนึ่งเรียกว่าการค้นหา (search) เป็นการค้นหาสารสนเทศเฉพาะหัวข้อที่ต้องการ การค้นหาต้องใช้ระบบที่เรียกว่าโปรแกรมค้นหา (search engine) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยในการค้นหาเอกสารหรือบทความที่เกี่ยวข้อกับเรื่องที่ผู้ใช้สนใจโดยใช้คำสำคัญ (keyword) ที่ผู้ใช้ป้อนเข้าสู่ระบบ และระบบจะนำคำสำคัญไปเปรียบเทียบกับคำในเอกสารต่างๆ ที่เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต และแสดงผลการค้นหาแก่ผู้ใช้

ตัวอย่างการค้นหาข้อมูลโดยใช้โปรแกรมค้นหา โดยการป้อนคำสำคัญ
เมื่อเสร็จสิ้นการค้นหาโปรแกรมจะแสดงผลการค้นหาแก่ผู้ใช้

ภาษาคอมพิวเตอร์


       มนุษย์ใช้ภาษาในการสื่อสารมาตั้งแต่สมัยโบราณ การใช้ภาษาเป็นเรื่องที่มนุษย์พยายามถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกต่างๆ เพื่อการโต้ตอบและสื่อความหมาย ภาษาที่มนุษย์ใช้ติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน ต่างเรียกว่า ภาษาธรรมชาติ (natural language) เพราะมีการศึกษา ได้ยิน ได้ฟังกันมาตั้งแต่เกิด
       การใช้งานคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ทำงานตามที่ต้องการ จำเป็นต้องมีการกำหนดภาษาสำหรับใช้ติดต่อสั่งงานกับคอมพิวเตอร์ ภาษาคอมพิวเตอร์จะเป็นภาษาประดิษฐ์ (artificial language) ที่มนุษย์คิดสร้างมาเอง เป็นภาษาที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะ มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวและจำกัด คืออยู่ในกรอบให้ใช้คำและไวยากรณ์ที่กำหนดและมีการตีความหมายที่ชัดเจน จึงจัดภาษาคอมพิวเตอร์เป็น ภาษาที่มีรูปแบบเป็นทางการ (formal language) ต่างกับภาษาธรรมชาติที่มีขอบเขตกว้างมาก ไม่มีรูปแบบตายตัวที่แน่นอน กฎเกณฑ์ของภาษาจะขึ้นกับหลักไวยากรณ์และการยอมรับของกลุ่มผู้ใช้นั้น ๆ
       ภาษาคอมพิวเตอร์ อาจแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ ภาษาเครื่อง ภาษาระดับต่ำ (low-level language) และภาษาระดับสูง (high-level language)

ภาษาเครื่อง


       การเขียนโปรแกรมเพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานในยุคแรกๆ จะต้องเขียนด้วยภาษาซึ่งเป็นที่ยอมรับของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าภาษาเครื่อง ภาษานี้ประกอบด้วยตัวเลขล้วน ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ทันที ผู้ที่จะเขียนโปรแกรมภาษาเครื่องได้ต้องสามารถจำรหัสแทนคำสั่งต่างๆ ได้ และในการคำนวณต้องสามารถจำได้ว่าจำนวนต่างๆ ที่ใช้ในการคำนวณนั้นถูกเก็บไว้ที่ตำแหน่งใด ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการเขียนโปรแกรมจึงมีมาก นอกจากนี้เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละระบบมีภาษาเครื่องที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดความไม่สะดวกเมื่อมีการเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์เพราะจะต้องเขียนโปรแกรมใหม่ทั้งหมด

ภาษาระดับต่ำ

       เนื่องจากภาษาเครื่องเป็นภาษาที่มีความยุ่งยากในการเขียนดังได้กล่าวมาแล้วจึงไม่มีผู้นิยมและมีการใช้น้อย ดังนั้นได้มีการพัฒนาภาษาคอมพิวเตอร์ขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยการใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นรหัสแทนการทำงานและใช้การตั้งชื่อตัวแปรแทนตำแหน่งที่ใช้เก็บจำนวนต่าง ๆ ซึ่งเป็นค่าของตัวแปรนั้น ๆ การใช้สัญลักษณ์ช่วยให้การเขียนโปรแกรมนี้เรียกว่าภาษาระดับต่ำ
       ภาษาระดับต่ำเป็นภาษาที่มีความใกล้เคียงกับภาษาเครื่องมาก ดังนั้นบางครั้งจึงเรียกภาษานี้ว่า ภาษาอิงเครื่อง (machine – oriented language) ตัวอย่างของภาษาระดับต่ำได้แก่ ภาษาแอสแซมบลี เป็นภาษาที่ใช้คำในอักษรภาษาอังกฤษเป็นคำสั่งให้เครื่องทำงาน เช่น ADD หมายถึง บวก SUB หมายถึง ลบ เป็นต้น การใช้คำเหล่านี้ช่วยให้การเขียนโปรแกรมง่ายขึ้นกว่าการใช้ภาษาเครื่องซึ่งเป็นตัวเลขล้วน ตารางที่ 5.1 แสดงตัวอย่างของภาษาระดับต่ำและภาษาเครื่องที่สั่งให้มีการบวกจำนวนที่เก็บอยู่ในหน่วยความจำ
การใช้โปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาแอสแซมบลีนั้น เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานได้ทันที จำเป็นต้องมีการแปลโปรแกรมจากภาษาแอสแซมบลีให้เป็นภาษาเครื่องก่อน โดยอาศัยโปรแกรมในการแปลที่มีชื่อว่าแอสแซมเบลอร์ (assembler) ซึ่งแตกต่างไปตามเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละชนิด ดังนั้นแอสเซมเบลอร์ของเครื่องชนิดหนึ่งจะไม่สามารถใช้แปลโปรแกรมภาษาแอสแซมบลีของชนิดอื่นๆ ได้
       ภาษาแอสแซมบลีนี้ยังคงใช้ยาก เพราะผู้เขียนโปรแกรมจะต้องเข้าใจการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างละเอียด ต้องรู้ว่าจำนวนที่จะนำมาคำนวณนั้นอยู่ ณ ตำแหน่งใดในหน่วยความจำ ในทำนองเดียวกับการเขียนโปรแกรมเป็นภาษาเครื่อง ภาษาแอสแซมบลีจึงมีผู้ใช้น้อยและมักจะใช้ในกรณีที่ต้องการควบคุมการทำงานภายในของตัวเครื่องคอมพิวเตอร์

ภาษาระดับสูง


       ภาษาระดับสูงเป็นภาษาที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเขียนโปรแกรม กล่าวคือ ลักษณะของคำสั่งจะประกอบด้วยคำต่างๆ ในภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าใจความหมายได้ทันที ผู้เขียนโปรแกรมจึงเขียนโปรแกรมด้วยภาษาระดับสูงได้ง่ายกว่าเขียนด้วยภาษาแอสแซมบลี หรือภาษาเครื่อง ภาษาระดับสูงมีมากมายหลายภาษา อาทิเช่น ภาษาฟอร์แทรน (FORTRAN) ภาษาโคบอล ภาษาปาสคาล (Pascal) ภาษาเบสิก (BASIC) ภาษาวิชวลเบสิก (Visual Basic) ภาษาซี (C) และภาษาจาวา (Java) เป็นต้น โปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงแต่ละภาษาจะต้องมีโปรแกรมที่ทำหน้าที่แปลภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง เช่น โปรแกรมแปลภาษาฟอร์แทรนเป็นภาษาเครื่อง โปรแกรมแปลภาษาปาสคาลเป็นภาษาเครื่อง คำสั่งหนึ่งคำสั่งในภาษาระดับสูงจะถูกแปลเป็นภาษาเครื่องหลายคำสั่ง

ภาษาระดับสูงที่จะกล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่

(1) ภาษาฟอร์แทรน (FORmula TRANslator : FORTRAN) จัดเป็นภาษาระดับสูงที่เก่าแก่ที่สุด ได้รับการคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกราว พ.ศ. 2497 โดยบริษัทไอบีเอ็ม เป็นภาษาที่เหมาะสำหรับงานที่ต้องการการคำนวณ เช่นงานทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และงานวิจัยต่าง ๆ เนื่องจากแนวคิดในการเขียนโปรแกรมในระยะหลังนี้ เปลี่ยนมานิยมการเขียนโปรแกรมแบบโครงสร้างมากขึ้น ลักษณะของคำสั่งภาษาฟอร์แทรนแบบเดิม ไม่เอื้ออำนวยที่จะให้เขียนได้ จึงมีการปรับปรุงโครงสร้างของภาษาฟอร์แทรนให้สามารถเขียนโปรแกรมแบบโครงสร้างขึ้นมาได้ในปี พ.ศ. 2509 เรียกว่า FORTRAN 66 และในปี พ.ศ. 2520 สถาบันมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา (American National Standard Institute หรือ ANSI) ได้ปรับปรุง FORTRAN 66 และยอมรับให้เป็นภาษาฟอร์แทรนที่เป็นมาตรฐานเรียกว่า FORTRAN 77 ใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีตัวแปลภาษานี้

(2) ภาษาโคบอล (Common Business – Oriented Language : COBOL) เป็นภาษาที่พัฒนาขึ้นในราว พ.ศ. 2502 ต่อมาได้รับการปรับปรุงจากคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานธุรกิจและรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา เป็นภาษาโคบอลมาตรฐานใน พ.ศ. 2517 ภาษาโคบอลเป็นภาษาที่เหมาะสมสำหรับงานด้านธุรกิจ เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ส่วนมากมีโปรแกรมแปลภาษาโคบอล

(3) ภาษาเบสิก (Beginner’s All - purpose Symbolic Instruction Code : BASIC)เป็นภาษาที่ได้รับการคิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่วิทยาลัยดาร์ทมัธ (Dartmouth College) เผยแพร่เป็นทางการในปี พ.ศ. 2508 ภาษาเบสิกเป็นภาษาที่สร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้สอนเขียนโปรแกรมแทนภาษาคอมพิวเตอร์ภาษาอื่น เช่น ภาษาฟอร์แทรน ซึ่งมีขนาดใหญ่และต้องใช้หน่วยความจำสูงในการทำงาน ซึ่งไม่เหมาะกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น ภาษาเบสิกเป็นภาษาที่มีขนาดเล็ก เป็นตัวแปลภาษาชนิดที่เรียกว่าอินเตอร์เพรทเตอร์ ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนในหัวข้อถัดไป
       นอกจากนี้ ภาษาเบสิกเป็นที่ง่ายต่อการเขียนซึ่งผู้เขียนจะสามารถนำไปประยุกต์กับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทุกสาขาวิชา ผู้ที่เพิ่งฝึกเขียนโปรแกรมใหม่ ๆ หรือผู้ที่ไม่ใช่นักเขียนโปรแกรมอาชีพ แต่เป็นเพียงวิศวกร หรือนักวิจัย จะสามารถหัดเขียนโปรแกรมภาษาเบสิกได้ในเวลาไม่นานนัก ปกติภาษาเบสิกส่วนใหญ่ใช้กับไมโครคอมพิวเตอร์

(4) ภาษาปาสคาล (Pascal) ตั้งชื่อตามนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ เบลส ปาสคาล (Blaise Pascal ) ซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องคิดเลขโดยใช้เฟืองหมุน ภาษาปาสคาลคิดขึ้นในปี พ.ศ. 2514 โดยนิคลอสเวียซ (Niklaus Wirth) ศาสตราจารย์วิชาคอมพิวเตอร์ชาวสวิส ภาษาปาสคาลได้รับการออกแบบให้ใช้ง่ายและมีโครงสร้างที่ดีจึงเหมาะกับการใช้สอนหลักการเขียนโปรแกรม ปัจจุบันภาษาปาสคาลยังคงได้รับความนิยมใช้ในการเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

(5) ภาษาซีและซีพลัสพลัส (C และ C++) ภาษาซีเป็นภาษาที่พัฒนาจากห้องปฏิบัติการเบลล์ของบริษัทเอทีแอนด์ทีในปี พ.ศ .2515 หลังจากที่พัฒนาขึ้นได้ไม่นานภาษาซีก็กลายเป็นภาษาที่นิยมในหมู่นักเรียนโปรแกรมมาก และมีใช้งานเครื่องทุกระดับ ทั้งนี้ เนื่องจากภษาซีได้รวมเอาข้อมูลของภาษาระดับสูงแลภาษาระดับเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือ เป็นภาษาที่มีไวยกรณ์ที่เข้าใจง่ายทำให้เขียนโปรแกรมได้ง่ายเช่นเดียวกับภาษาระดับสูงทั่วไป แต่ประสิทธิภาพและความเร็วในการทำงานดีกว่ามาก เนื่องจากมีการทำงานเหมือนภาษาระดับต่ำ สามารถทำงานได้ในระดับที่เป็นการควบคุมฮาร์ดแวร์ได้มากกว่าภาษาระดับสูงอื่นๆ ดังจะเห็นว่าภาษาซีเป็นภาษาที่สามารถพัฒนาระบบปฏิบัติการได้ เช่น ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์

       นอกจากนี้เมื่อแนวคิดของการเขียนโปรแกรมแบบเชิงวัตถุ (Object Oriented Programing : OOP) ได้เข้ามามีบทบาทในวงการคอมพิวเตอร์มากขึ้น ภาษาซีก็ยังได้รับการพัฒนาดดยประยุกต์ใช้กับการเขียนโปรแกรมดังกล่าว เกิดเป็นภาษาใหม่ชื่อว่า ภาษาซีพลัสพลัส (C++)

(6) ภาษาวิชวลเบสิก (Visual Basic) เป็นภาษาที่พัฒนาต่อมาจากภาษาเบสิก สำหรับภาษาวิชวลเบสิกเป็นภาษาที่ใช้ไวยกรณ์บางส่วนของภาษาเบสิกในการเขียนโปรแกรม แต่มีแยวคิดและวิธีการพัฒนาโปรแกรมที่แตกต่างจากภาษาเบลิกโดยสิ้นเชิง รวมทั้งการใช้เนื้อที่ในหน่วยความจำก็แตกต่างกันมาก ทั้งนี้ เนื่องจากภาษาวิชวลเบสิกใช้แนวคิดการเขียนโปรแกรมแบบรูปภาพ (visual programing) ในการพัฒนาโปรแกรม ภาษานี้พัฒนาขึ้นโดยบริษัทไมโครซอฟต์ ออกแบบเพื่อเขียนโปรแกรมที่สามารถใช้งานได้บนระบบปฏิบัติการแบบจียูไอ เช่น ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์วินโดวส์ มีการติดต่อกับผู้ใช้โดยใช้รูปภาพ การเขียนโปรแกรมทำได้ง่ายกว่าการเขียนโปรแกรมแบบเก่ามากซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดในบทต่อไป

(7) การเขียนโปรแกรมแบบจินตภาพ (visual programing) ในการพัฒนาโปรแกรม ภาษานี้พัฒนาขึ้นโดยบริษัทไมโครซอฟต์ ออกแบบเพื่อเขียนโปรแกรมที่สามารถใช้งานได้บนระบบปฏิบัติการแบบจียูไอ เช่น ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์วินโดวส์ มีการติดต่อกับผู้ใช้โดยใช้รูปภาพ การเขียนโปรแกรมทำได้ง่ายกว่าการเขียนโปรแกรมแบบเก่ามาก

(8)ภาษาจาวา (JAVA) พัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2534 โดยบริษัทซันไมโครซิสเตมส์ และเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมสูงมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นภาษาที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถเขียนโปรแกรม และใช้งานได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกประเภท และระบบปฏิบัติการทุกรูปแบบ ในช่วงแรกที่เริ่มมีการนำภาษาจาวามาใช้งาน จะเป็นการใช้งานบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นภาษาที่เน้นการทำงานบนเว็บ แต่ปัจจุบันสามารถนำมาประยุกต์สร้างโปรแกรมใช้งานทั่วไปได้
       นอกจากนี้ เมื่อเทคโนโลยีของการสื่อสารก้าวหน้าขึ้น จนกระทั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ปาล์มท็อป หรือแม้แต่โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตและใช้งานระบบเวิร์ดไวด์เว็บได้ ภาษาจาวาก็สามารถสร้างส่วนที่เรียกว่าแอพเพลต (applet) ให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่กล่าวข้างต้นเรียกใช้งานจากเครื่องที่เป็นแม่ข่าย (server) ได้

(9) ภาษาเดลไฟล์ (Delphi) เป็นภาษาที่ได้รับความนิยมมากภาษาหนึ่ง แนวคิดเขียนโปรแกรมภาษาเดลไฟล์เหมือนกับแนวคิดของภษาวิชวลเบสิกคือเป็นการเขียนโปรแกรมเชิงรูปภาพแต่ภาษาพื้นฐานที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมจะเป็นภาษาปาสคาล ในการเขียนโปรแกรมเชิงรูปภาพนี้มีคอมโพเนนต์ (component) ที่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบเพื่อสร้างส่วนติดต่อผู้ใช้ที่เป็นแบบกราฟิกทำให้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนามีความน่าสนใจและใช้งานง่ายขึ้น การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาเดลไฟล์จึงเป็นที่นิยมในการนำเป็นพัฒนาโปรแกรมใช้งานมาก รวมทั้งภาษาปาสคาลเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายเหมาะแก่การนำมาใช้สอนเขียนโปรแกรม

การทำงานของโปรแกรมแปลภาษา


       ดังกล่าวมาแล้วว่าในการประมวลผลโปรแกรมที่เขียนขึ้นด้วยภาษาระดับสูงจำเป็นต้องอาศัยโปรแกรมที่ทำหน้าที่ช่วยในการแปลโปรแกรมภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง โปรแกรมภาษาที่ใช้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะได้แก่

(1) คอมไพเลอร์ (compiler) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ในการแปลโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงที่เรียกกันว่า โปรแกรมต้นฉบับ (source program) ให้เป็นโปรแกรมภาษาเครื่อง (object program) ถ้ามีข้อผิดพลาดเครื่องจะพิมพ์รหัสหรือข้อผิดพลาดออกมาด้วย ภายหลังการแปลถ้าไม่มีข้อผิดพลาด ผู้ใช้สามารถสั่งประมวลผลโปรแกรมและสามารถเก็บโปรแกรมที่แปลภาษาเครื่องไว้ใช้งานต่อไปได้อีกโดยไม่ต้องทำการแปลโปรแกรมซ้ำอีก
       ตัวอย่างโปรแกรมแปลภาษาแบบนี้ ได้แก่ โปรแกรมแปลภาษาฟอร์แทรน โปรแกรมแปลภาษาโคบอล โปรแกรมแปลภาษาปาสคาล โปรแกรมแปลภาษาซี

(2) อินเตอร์พรีเตอร์ (Interpreter)เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ในการแปลโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่องเช่นเดียวกับคอมไพเลอร์ ความแตกต่างจะอยู่ที่อินเตอร์พรีเตอร์จะทำการแปลและประมวลผลทีละคำสั่ง ข้อเสียของอินเตอร์พรีเตอร์ก็คือ ถ้านำโปรแกรมนี้มาใช้งานอีกจะต้องทำการแปลโปรแกรมทุกครั้ง ภาษาบางภาษามีโปรแกรมแปลทั้งสองลักษณะ เช่น ภาษาเบสิก เป็นต้น


ระบบติดต่อใช้งานคอมพิวเตอร์


       ตามปกติเมื่อซื้อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มาใช้งาน มักจะได้ระบบปฏิบัติการมาพร้อมกับเครื่อง ซึ่งสามารถช่วยจัดการให้ผู้ใช้เรียกใช้หรือติดต่อกับเครื่องได้ทันที โดยรูปแบบของการติดต่อกับเครื่องจะขึ้นกับระบบปฏิบัติการที่ติดตั้ง และซอฟต์แวร์เสริมสภาพแวดล้อมการใช้งาน ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบติดต่อระหว่างเครื่องกับผู้ใช้ให้ใช้ง่ายและทำงานได้รวดเร็วขึ้น ระบบติดต่อใช้งานคอมพิวเตอร์ อาจแบ่งได้เป็นสามกลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มพิมพ์คำสั่งเข้าไปทีละบรรทัด กลุ่มเลือกรายการเมนู และกลุ่มเลือกสัญรูป

1 กลุ่มพิมพ์คำสั่งเข้าทีละบรรทัด

       ระบบการติดต่อแบบนี้เป็นระบบติดต่อแบบแรกที่พัฒนามาพร้อมๆ กับคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะมีการพัฒนาระบบอื่นๆ เป็นการป้อนคำสั่งทีละบรรทัด ซึ่งไม่เอื้อต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์เท่าใดนัก เพราะผู้ใช้จะต้องเรียนรู้หรือจดจำคำสั่งต่าง ๆ ไว้ให้ได้เสียก่อน เช่นการเรียกใช้คำสั่งของดอส ระบบนี้ ผู้ใช้จะมีความสับสนในระยะแรก เพราะจะต้องเรียนรู้คำสั่งว่าใช้งานอะไร และใช้ได้อย่างไร ซึ่งการป้อนหรือพิมพ์คำสั่งเข้าไปจะต้องพิมพ์ไม่ผิดเลย ระบบติดต่อนี้จะใช้ยากและเสียเวลาบ้างถ้าจำคำสั่งไม่ได้ แต่ถ้าใช้ไปนาน ๆ จนคุ้นเคย อาจมีข้อดีที่สามารถเรียกโปรแกรมมาทำงานได้รวดเร็วที่สุด ใช้พื้นที่หน่วยความจำน้อยเพราะลดการแสดงผลในส่วนของกราฟิก

2 กลุ่มเลือกรายการเมนู

       ในระบบนี้จะแสดงรายการย่อยของคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นข้อความ ตัวอักษรไม่เป็นรูปกราฟิก ผู้ใช้เพียงแต่เลื่อนตัวชี้ แถบสี หรือสัญลักษณ์ลูกศรขึ้นหรือลง รูปสัญลักษณ์อื่น ๆ ไปยังรายการที่ต้องการ แล้วกดปุ่มเลือกรายการนั้น หรืออาจใช้เมาส์เลือกรายการใช้เช่นกัน ระบบติดต่อใช้งานคอมพิวเตอร์กลุ่มนี้จะใช้งานได้ง่ายขึ้นไม่ต้องจดจำคำสั่งมาก เพราะจะมีรายการคำสั่งแสดงไว้ให้เลือก

3 กลุ่มเลือกสัญรูป


       มีลักษณะคล้ายระบบติดต่อกลุ่มที่สองที่เป็นรายการเมนูให้เลือก เพียงแต่ว่ารายการของกลุ่มที่สามจะเป็นรูปภาพ หรือสัญรูปสำหรับเลือกโดยมีอุปกรณ์เมาส์เป็นตัวเลื่อนตัวชี้และเลือกรายการ ในบางกรณีก็อาจเป็นรายการเมนูย่อยของข้อมูลในระบบ การติดต่อระหว่างเครื่องกับผู้ใช้ในลักษณะนี้ได้รับความสนใจมาก เพราะใช้งานง่าย ไม่ต้องเรียนรู้ หรือจดจำคำสั่งที่ซับซ้อน
       ระบบติดต่อใช้งานในกลุ่มที่สามที่มีผู้นิยมหรือกล่าวถึงกันมากคือ ระบบติดต่อผู้ใช้เชิงกราฟิกเรียกว่าจียูไอ นับเป็นระบบที่แสดงรูปกราฟิกแบบบิตแมพ (bit map) ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น วินโดวส์ ดอส โอเอสทู หรือยูนิกส์ ต่างก็มีซอฟต์แวร์มาเสริมสภาพการใช้งานเป็นแบบจียูไอกันทั้งหมด
       ซอฟต์แวร์ประเภทจียูไอ ส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมที่ซับซ้อนและมีขีดความสามารถสูงดังนั้นการติดต่อหรือการเรียนรู้จึงยากกว่าปกติ แต่หลังจากติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว โปรแกรมกุยจะใช้งานได้ง่าย และถ้านำไปทำงานในเครื่องความเร็วสูง ก็จะช่วยประหยัดเวลา และทำให้โปรแกรมต่าง ๆ ใช้งานง่ายขึ้น โปรแกรมกุยเป็นโปรแกรมขนาดใหญ่จึงใช้พื้นที่หน่วยความจำมาก ต้องใช้ตัวประมวลผลที่มีขีดความสามารถสูง จึงจะทำงานได้ผล
       ลักษณะเด่นของระบบติดต่อกุยเมื่อใช้กับซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการหลายภารกิจ คือ สามารถทำหลายงานได้ในเวลาเดียวกัน โดยงานหนึ่ง ๆ จะปรากฏในช่องหน้าต่างที่เปิดขึ้นมาบนจอภาพ สามารถสลับระหว่างช่องหน้าต่างไปมา เปลี่ยนขนาดและย้ายตำแหน่งของช่องหน้าต่างและการโอนย้ายข้อมูลระหว่างช่องหน้าต่าง หรือระหว่างโปรแกรมได้ ในส่วนของผู้ที่เป็นนักเขียนโปรแกรมก็จะได้ประโยชน์ สามารถเขียนโปรแกรมประยุกต์สร้างเป็นเมนูภาพ สัญรูป และช่องหน้าต่างแสดงข้อมูล

ระบบติดต่อกุยที่สมบูรณ์แบบควรมีองค์ประกอบ ดังนี้

1) มีระบบที่ใช้รูปกราฟิกและสัญรูป

2) มีการแสดงรายการบนจอที่สวยงาม น่าดู และให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินกับการใช้งาน

3) สามารถพิมพ์ผลลัพธ์ที่ปรากฏบนจอได้เหมือนกับที่เห็น

4) สนับสนุนการใช้เครื่องพิมพ์หลายรุ่น

5) แสดงองค์ประกอบของระบบไม่ว่าจะเป็นช่องหน้าต่าง หรือรายการเมนูเป็นมาตรฐานเดียวกันจนทำให้แยกไม่ออกว่ากำลังทำงานอยู่เครื่องต่างระบบหรือทำงานต่างโปรแกรม เป็นต้น

6) มีลักษณะการใช้งานแบบเลือกรายการ เลือกชิ้นวัตถุที่สามารถชี้และเลือกด้วยเมาส์

7) มีระบบที่ติดตั้งได้ง่ายและสามารถปรับเปลี่ยนระบบภายในได้ง่าย

8) สามารถทำงานเข้ากับได้กับฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์รุ่นเก่า

9) สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโปรแกรม