วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software)



ความหมายของซอฟต์แวร์
       การใช้งานระบบสารสนเทศด้วยคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงาน เช่น การซื้อของโดยใช้บัตรเครดิต ผู้ขายจะตรวจสอบบัตรเครดิตโดยใช้เครื่องอ่านบัตร แล้วส่งข้อมูลของบัตรเครดิตไปยังศูนย์ข้อมูลของบริษัทผู้ออกบัตร การตรวจสอบจะกระทำกับฐานข้อมูลกลาง โดยมีกลไกหรือเงื่อนไขของการตรวจสอบ จากนั้นจึงให้คำตอบว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธบัตรเครดิตใบนั้น การดำเนินการเหล่านี้เป็นไปโดยอัตโนมัติตามคำสั่งซอฟต์แวร์
       ทำนองเดียวกันเมื่อซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า พนักงานเก็บเงินจะใช้เครื่องกราดตรวจอ่านรหัสแท่งบนสินค้าทำให้บนจอภาพปรากฏชื่อสินค้า รหัสสินค้า และราคา ในการดำเนินการนี้ต้องใช้ซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้
       ซอฟต์แวร์ คือ ชุดคำสั่งที่สั่งงานคอมพิวเตอร์เป็นลำดับขั้นตอนของการทำงาน ชุดคำสั่งเหล่านี้ได้จัดเตรียมไว้ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์อ่านชุดคำสั่งแล้วทำงานตาม ซอฟต์แวร์จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์จัดทำขึ้น และคอมพิวเตอร์จะทำงานตามคุณลักษณะของซอฟต์แวร์ที่วางไว้แล้วเท่านั้น
       ชนิดของซอฟต์แวร์แบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ คือ ซอฟต์แวร์ระบบ (system software) และซอฟต์แวร์ประยุกต์ (application software)

ซอฟต์แวร์ระบบ


       คือซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการจัดการระบบคอมพิวเตอร์ จัดการอุปกรณ์รับเข้าและส่งออก การรับข้อมูลจากแผงแป้นอักขระ การแสดงผลบนจอภาพ การนำข้อมูลออกไปพิมพ์ยังเครื่องพิมพ์ การจัดเก็บข้อมูลเป็นแฟ้ม การเรียกค้นข้อมูล การสื่อสารข้อมูล ซอฟต์แวร์ระบบจึงหมายถึงซอฟต์แวร์ที่ดูแลจัดการอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบ ซอฟต์แวร์ระบบที่รู้จักกันดี คือ ระบบปฏิบัติการ (operating system) เช่น เอ็มเอสดอส ยูนิกซ์ โอเอสทู วินโดวส์ ลีนุกซ์ เป็นต้น
       คอมพิวเตอร์จะทำงานไม่ได้หากปราศจากระบบปฏิบัติการ ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ เราสามารถสั่งงานผ่านระบบปฏิบัติการให้คอมพิวเตอร์คำนวณ ให้แสดงภาพ ให้พิมพ์ข้อความหรือผลลัพธ์ออกมาทางเครื่องพิมพ์ นอกจากนั้นคอมพิวเตอร์ยังทำหน้าที่ประสานงานระหว่างโปรแกรมต่างๆ กับตัวเครื่อง ซอฟต์แวร์ประยุกต์ไม่ว่าประเภทใดล้วนแต่ต้องทำงานบนซอฟต์แวร์ระบบทั้งสิ้น
       เนื่องจากคอมพิวเตอร์จะไม่ทำงาน ถ้าไม่มีระบบปฏิบัติการ การเริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์ทุกครั้งจึงต้องบรรจุ (load) ระบบปฏิบัติการเข้าไว้ในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะให้เครื่องเริ่มทำงานอย่างอื่น



แสดงความสัมพันธ์ระหว่างฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ระบบ ซอฟต์แวร์ประยุกต์ และผู้ใช้



ระบบปฏิบัติการกับการปฏิบัติงานของคอมพิวเตอร์

       ระบบปฏิบัติการทำหน้าที่ประสานงานหรือกำกับดูแลการทำงานของคอมพิวเตอร์ ในการกำหนดว่าจะเก็บโปรแกรมหรือข้อมูลเก็บไว้ในส่วนใดของหน่วยความจำ ดูแลการติดต่อระหว่างส่วนต่างๆ ของคอมพิวเตอร์กับโปรแกรมใช้งานหรือผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ควบคุมการส่งสัญญาณจากคอมพิวเตอร์ขึ้นไปปรากฏบนจอภาพ ควบคุมการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ ตัวอย่างเช่น ควบคุมการแปลสัญญาณจากแป้นพิมพ์ให้เครื่องรับรู้ ควบคุมการบันทึกหรือการอ่านข้อมูลของเครื่องขับแผ่นบันทึก
       นอกจากนี้ ในปัจจุบันการทำงานในลักษณะกลุ่ม และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีบทบาทในการใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างกว้างขวาง ทำให้ระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นมาในระยะหลังๆ จำเป็นต้องมีความสามารถในการทำงานและให้บริการบนเครือข่ายเพิ่มขึ้น โดยระบบปฏิบัติการมีหน้าที่จัดการงานในการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ จัดสรรให้คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อในเครือข่ายสามารถใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ในเครือข่ายร่วมกัน เช่น การใช้งานเครื่องพิมพ์ร่วมกัน และควบคุมดูแลการใช้งานข้อมูลส่วนกลางซึ่งอยู่ในเครื่องที่ทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย โดยสามารถกำหนดสิทธิในการเข้าใช้ข้อมูลของผู้ใช้ที่อยู่ในกลุ่ม มีระบบป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับข้อมูล


ประเภทของระบบปฏิบัติการ
       เนื่องจากระบบปฏิบัติการเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ แต่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันมีสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานทั่วไปจะมีคุณสมบัติและการทำงานที่แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เช่น มินิคอมพิวเตอร์ ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องให้บริการที่ต้องคอยให้บริการและดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นบริวารจำนวนมาก ระบบปฏิบัติการที่ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ประเภทนี้จึงต้องมีความซับซ้อนกว่าระบบปฏิบัติการที่ใช้ในเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ และเราสามารถแบ่งประเภทของระบบปฏิบัติการตามลักษณะการทำงานได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

       (1) ประเภทใช้งานเดียว (single-tasking) ระบบปฏิบัติการประเภทนี้จะกำหนดให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ครั้งละหนึ่งงานเท่านั้น ใช้ในเครื่องขนาดเล็กอย่างไมโครคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบปฏิบัติการดอส

       (2) ประเภทใช้หลายงาน (multitasking) ระบบปฏิบัติการสามารถควบคุมการทำงานพร้อมกันหลายงานในขณะเดียวกัน ผู้ใช้สามารถทำงานกับซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยระบบปฏิบัติการจัดสรรทั้งเวลาและเนื้อที่ที่ต้องใช้ในการประมวลผลคำสั่งของซอฟต์แวร์แต่ละชนิด เช่น แบ่งปันเวลาในการประมวลผลของซีพียู และการแบ่งเนื้อที่ในหน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูลและคำสั่งของซอฟต์แวร์ที่ใช้งาน เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 95 และ 98

       (3) ประเภทใช้งานหลายคน (multiuser) ในหน่วยงานบางแห่งอาจใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ประมวลผล ทำให้ในขณะใดขณะหนึ่งมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์พร้อมกันหลายคน แต่ละคนจะมีสถานีงานของตนเองเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ จึงต้องใช้ระบบปฏิบัติการที่มีความสามารถในการจัดการสูง เพื่อให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถทำงานเสร็จได้ในเวลา ระบบปฏิบัติการในกลุ่มนี้ เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เอ็นที

ตัวอย่างระบบปฏิบัติการ

       เนื่องจากระบบปฏิบัติการจะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างโปรแกรมใช้งาน ดังนั้นระบบปฏิบัติการจึงมีหลายชนิด ปัจจุบันระบบปฏิบัติการที่นิยมใช้งานกันแพร่หลายมีดังนี้

       (1) ระบบปฏิบัติการดอส (Disk Operating System : DOS) บริษัทไอบีเอ็มผลิตเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ขึ้นมาและให้ชื่อว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ได้มอบหมายให้บริษัทไมโครซอฟต์เป็นผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการโดยให้ชื่อว่า พีซีดอส ต่อมาเมื่อไมโครคอมพิวเตอร์แบบนี้เป็นที่แพร่หลาย จึงมีผู้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ซึ่งมีการทำงานแบบเดียวกับไมโครคอมพิวเตอร์ของบริษัทไอบีเอ็ม ไมโครคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะใช้ระบบปฏิบัติการของบริษัทไมโครซอฟท์เช่นกันแต่ใช้ชื่อว่าเอ็มเอสดอส (Microsoft Disk Operating System : MS-DOS) ซึ่งมีการทำงานคล้ายพีซีดอส แต่ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมแล้ว

       (2) ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ (UNIX) เป็นระบบปฏิบัติการประเภทใช้หลายคน และหลายงาน ได้มีผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ให้สามารถใช้กับเครื่องชนิดต่างๆ หลายระบบโดยตั้งชื่อใหม่ เช่น ซีนิกซ์ (Xenix) วีนิกซ์ (Venix) ไมโครนิกซ์ (Micronix) เอไอเอ็กซ์ (AIX) อัลทริกซ์ (Altrix) เป็นต้น ปัจจุบันมีความพยายามจะกำหนดให้ระบบปฏิบัติการที่มีชื่อต่าง ๆ เหล่านี้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โปรแกรมที่พัฒนาภายใต้ระบบยูนิกซ์นี้ มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องขึ้นกับเครื่องแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ

       (3) ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์วินโดวส์ (Microsoft Windows) ระบบปฏิบัติการที่พัฒนาโดยบริษัทไมโครซอฟต์ เป็นระบบปฏิบัติการที่มีลักษณะการใช้งานแตกต่างจาก 2 ระบบแรกที่กล่าวมา เนื่องจากมีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (user interface) เป็นแบบที่เรียกว่าระบบติดต่อผู้ใช้แบบกราฟิก (Graphic User Interface : GUI) หรือที่เรียกว่าจียูไอ คือมีการแสดงผลเป็นรูปภาพ และใช้สัญลักษณ์ในรูปรายการเลือก (menu) หรือสัญรูป (icon) ในการสั่งงานคอมพิวเตอร์แทนการพิมพ์คำสั่งทีละบรรทัด ทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ง่ายขึ้น ทั้งยังมีสีสันทำให้ซอฟต์แวร์น่าใช้งานมากขึ้น


ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่มีระบบติดต่อผู้ใช้แบบจียูไอสั่งงานด้วยสัญลักษณ์แทนการป้อนคำสั่ง



       ระบบปฏิบัติการวินโดวส์นี้เป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมสูงมากในเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ทั่วไป ทั้งนี้นอกจากจะเป็นเพราะความง่ายในการใช้งานที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังเป็นเพราะหลังจากที่บริษัทไมโครซอฟต์ได้ผลิตระบบปฏิบัติการนี้ออกสู่ตลาด ก็ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่สามารถใช้งานบนระบบปฏิบัติการนี้ขึ้นหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ในกลุ่มซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน หรือซอฟต์แวร์นำเสนอข้อมูล ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้ใช้ในทุกๆ ด้าน ทำให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลาย นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ๆ ที่สนับสนุนการใช้งานกับเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วินโดวส์ 3.0 (Windows 3.0) ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่ทำงานบนเครื่องเดียว พัฒนาเป็นรุ่นหรือเวอร์ชั่น (version) ที่สามารถทำงานเป็นกลุ่มหรือเครือข่ายภายในองค์กรที่ใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ และพัฒนาต่อมาเป็นวินโดวส์ 95(Windows 95) วินโดวส์ 98 (Windows 98) วินโดวส์ เอ็มอี(Windows ME) และพัฒนาเป็นระบบปฏิบัติการเครือข่ายที่สามารถจัดการด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์บนเครือข่าย จัดการด้านการใช้งานอุปกรณ์ร่วมกัน และดูแลจัดสรรและรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เช่น วินโดวส์ เอ็นที (Windows NT) วินโดวส์ 2000(Windows 2000) และวินโดวส์ เอ็กซ์พี (Windows XP) หรือแม้แต่ระบบปฏิบัติการสำหรับคอมพิวเตอร์พกพาอย่างวินโดวส์ ซีอี (Windows CE)



หน้าจอซอฟต์แวร์ระบบลินุกซ์ในสภาวะตัวอักษร


       (4) ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux) เป็นระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ระบบหนึ่งเช่นเดียวกับซีนิกซ์หรือวีนิกซ์ ได้รับการพัฒนาโดยนักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยเฮลซินกิประเทศฟินแลนด์ชื่อลีนุซ ทอร์วาลด์ (Linus Torvalds) เขาเริ่มพัฒนาระบบปฏิบัติการดังกล่าวในปี พ.ศ. 2523 ด้วยเขาต้องการพัฒนาระบบปฏิบัติยูนิกซ์ที่มีความสามารถมากกว่าไมนิกซ์ซึ่งเขาใช้งานอยู่ จึงเริ่มต้นพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้เอง โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบจากระบบยูนิกซ์อื่นเลย และในปี พ.ศ. 2534 ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์เวอร์ชั่น 0.010 ก็ได้รับการเผยแพร่ โดยมีการแจกให้ใช้งานฟรีรวมทั้งรหัสต้นแบบ (source code) ก็เป็นที่เปิดเผย จึงเป็นที่นิยมและมีผู้นำไปพัฒนาลีนุกซ์ของตนเองขึ้นใช้งานมากมาย รวมทั้งมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ขึ้นใช้งานบนลีนุกซ์อีกด้วย
       ด้วยเหตุที่มีผู้นำรหัสต้นแบบของระบบปฏิบัติการระบบนี้มาพัฒนาเป็นของตนเองมากมายและเนื่องจากในปัจจุบันแนวคิดของจียูไอกำลังเป็นที่นิยม จึงมีการพัฒนาระบบปฏิบัติการลินุกซ์ให้สามารถทำงานบนระบบเอกซ์วินโดวส์ (X Windows) ซึ่งเป็นระบบที่มีการติดต่อกับผู้ใช้แบบกราฟิก และถือได้ว่าลินุกซ์เป็นยูนิกซ์ที่สมบูรณ์แบบ อีกทั้งเป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถทำงานได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประสิทธิภาพไม่สูงมาก เช่น เครื่องในตระกูล 80386 ได้ และต้องการหน่วยความจำเพียง 2 เมกะไบต์ในการทำงานบนสภาวะตัวอักษร (text mode) หรือ 64 เมกะไบต์ในการทำงานบนเอกซ์วินโดวส์

ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ในสภาวะเอกซ์วินโดวส์


ซอฟต์แวร์ประยุกต์

       ซอฟต์แวร์ประยุกต์ คือซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้น เพื่อประยุกต์กับงานที่ผู้ใช้ต้องการ เช่น ซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์จัดเก็บภาษี ซอฟต์แวร์สินค้าคงคลัง ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน ซอฟต์แวร์กราฟิก ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล เป็นต้น
       การทำงานใดๆ โดยใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ จำเป็นต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมของซอฟต์แวร์ระบบด้วย ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ประมวลคำต้องทำงานภายใต้ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการเอ็มเอสดอสหรือวินโดวส์ เป็นต้น
       ซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้รับความนิยมใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกวงการ ความนิยมส่วนหนึ่งมาจาก ขีดความสามารถของซอฟต์แวร์ประยุกต์นั้นๆ เพราะซอฟต์แวร์ที่ผลิตออกจำหน่าย ต่างพยายามแข่งขันกันหลายๆ ด้าน เช่น เรียนรู้และใช้งานได้ง่าย สนับสนุนให้ใช้กับเครื่องพิมพ์ได้ดี มีคู่มือการใช้ซอฟต์แวร์ที่อ่านเข้าใจง่าย ให้วิธีหรือขั้นตอนที่อธิบายไว้อย่างชัดเจน และมีระบบโอนย้ายข้อมูลเข้าออกกับซอฟต์แวร์อื่นได้ง่าย
       ซอฟต์แวร์ประยุกต์มีอยู่มากมาย อาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ คือ ซอฟต์แวร์ใช้เฉพาะทางและซอฟต์แวร์สำเร็จ




ซอฟต์แวร์ใช้เฉพาะทาง


       เป็นโปรแกรมที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาสำหรับนำไปใช้งานเฉพาะด้าน หรือในสาขาใดสาขาหนึ่งตามความต้องการของผู้ใช้ โดยที่ผู้เขียนคือโปรแกรมเมอร์ (programmer) ที่มีความสามารถในการเขียนโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ และต้องศึกษาทำความเข้าใจเข้าใจงานและรายละเอียดของการประยุกต์นั้นเป็นอย่างดี เช่น โปรแกรมช่วยจัดการด้านการเงิน โปรแกรมช่วยจัดการบริการลูกค้า ฯลฯ ตามปกติจะไม่ค่อยได้พบเห็นซอฟต์แวร์ประเภทนี้ในท้องตลาดทั่วไป แต่จะซื้อหาได้จากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายในราคาค่อนข้างสูงกว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้งานทั่วไป
       โครงสร้างของซอฟต์แวร์เฉพาะทางมักจะประกอบด้วย ฐานข้อมูลเพื่อใช้เก็บข้อมูลลูกค้า และระบบหลักของงาน ภายในซอฟต์แวร์ควรจะมีส่วนทำงานประมวลคำเพื่อใช้สร้างรายงาน ติดต่อโต้ตอบจดหมาย และการนัดหมายตามกำหนดการ ลักษณะของซอฟต์แวร์เฉพาะทางนี้ มีทั้งรูปแบบที่มีผู้ใช้งานคนเดียว หรือผู้ใช้งานได้พร้อมกันหลายคน
       ในประเทศไทยมีการใช้ซอฟต์แวร์ประเภทใช้เฉพาะทางอยู่บ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นซอฟต์แวร์ที่บริษัทผู้ผลิตต่างประเทศได้ออกแบบมาเพื่อรองรับงานด้านธุรกิจ ในที่นี้ได้รวบรวมจัดประเภทไว้ดังนี้




ตัวอย่างซอฟต์แวร์ใช้เฉพาะทาง

(1) ซอฟต์แวร์ระบบงานด้านบัญชี ได้แก่ ระบบงานบัญชีเจ้าหนี้ บัญชีลูกหนี้ บัญชีสินทรัพย์ถาวรและค่าเสื่อมราคาสะสม บัญชีแยกประเภททั่วไป และบัญชีเงินเดือน


(2) ซอฟต์แวร์ระบบงานจัดจำหน่าย ได้แก่ ระบบงานรับใบสั่งซื้อสินค้า ระบบงานบริหารสินค้าคงคลังและระบบงานประวัติการขาย

(3) ซอฟต์แวร์ระบบงานในโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ ระบบงานกำหนดโครงสร้างผลิตภัณฑ์ การวางแผนกำลังการผลิต การคำนวณต้นทุนของงาน การประเมินผลงานของพนักงาน การวางแผนการผลิตหลัก การวางแผนความต้องการวัสดุ การควบคุมการทำงานภายในโรงงาน การกำหนดเงินทุนมาตรฐานสินค้าและการกำหนดขั้นตอนการผลิต

(4) ซอฟต์แวร์อื่นๆ ได้แก่ ระบบการสร้างรายงาน การบริหารการเงิน การเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ และการเช่าซื้อรถยนต์

ซอฟต์แวร์สำเร็จ
       เป็นซอฟต์แวร์ที่มีบริษัทผู้ผลิตได้สร้างขึ้น และวางขายทั่วไป ผู้ใช้สามารถหาซื้อมาประยุกต์ใช้งานทั่วไปได้ ซอฟต์แวร์ประเภทนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะสำหรับงานใดงานหนึ่ง ผู้ใช้งานจะต้องเป็นผู้นำไปประยุกต์กับงานของตน ผู้ใช้อาจต้องมีการสร้างหรือพัฒนาชิ้นงานภายในซอฟต์แวร์ต่อไปอีก ราคาของซอฟต์แวร์ใช้งานทั่วไปนี้จะไม่สูงมากเกินไป






ตัวอย่างซอฟต์แวร์สำเร็จ

       ซอฟต์แวร์ใช้งานทั่วไปซึ่งนิยมเรียกว่า ซอฟต์แวร์สำเร็จ แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มตามลักษณะการใช้งานคือ

(1) ด้านการประมวลคำ

(2) ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล หรือตารางทำงาน

(3) ด้านการเก็บและเลือกค้นข้อมูลเป็นระบบฐานข้อมูล

(4) ด้านกราฟิก และนำเสนอข้อมูล

(5) ด้านการติดต่อสื่อสารทางไกล

(6) ด้านการพิมพ์ตั้งโต๊ะ

(7) ด้านการลงทุนและจัดการการเงิน

(8) ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม

(9) ด้านการจำลอง เกม และการตัดสินใจ

        ในบรรดาซอฟต์แวร์สำเร็จที่มีหลายกลุ่มนี้ กลุ่มซอฟต์แวร์ที่มีการใช้งานมากและจำเป็นต้องมีประจำหน่วยงาน มักจะเป็นรายการแรก คือ ด้านการประมวลคำ ด้าน ตารางทำงาน ด้านระบบฐานข้อมูล และด้านกราฟิกซอฟต์แวร์สำเร็จส่วนใหญ่เป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์เชิงพาณิชย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ยกเว้นเฉพาะกลุ่มแรก คือ โปรแกรมประมวลคำที่ประเทศไทยมีการสร้างและพัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานร่วมกับภาษาไทย และยังมีการนำซอฟต์แวร์เดิมมาดัดแปลงและเพิ่มเติมส่วนที่ใช้งานเป็นภาษาไทย


ซอฟต์แวร์ประมวลคำ
       ซอฟต์แวร์ประมวลคำเป็นซอฟต์แวร์ในการนำตัวอักษรมาเรียงต่อเป็นคำ ประโยคหรือย่อหน้า คล้ายการใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์ข้อความบนกระดาษ แต่ต่างกันที่ตัวอักษรที่พิมพ์หรือป้อนเข้าทางแผงแป้นอักขระจะเข้าไปเก็บอยู่ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถแก้ไขดัดแปลงได้ง่าย ภายใต้ข้อกำหนดของซอฟต์แวร์ผู้ใช้สามารถกำหนดปรับแต่งรูปแบบได้ตามต้องการ เช่น การกำหนดเส้นกั้นหน้าและกั้นหลัง กั้นบนและกั้นล่าง เมื่อมีการแก้ไขจนเป็นที่พอใจแล้ว สามารถสั่งพิมพ์เอกสารออกทางเครื่องพิมพ์ได้หลายชุดตามที่ต้องการ เอกสารที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ จะมีคุณภาพดีไม่มีรอยเปื้อนจากการแก้ไขดัดแปลง




                                   เป็นซอฟต์แวร์ประมวลคำที่พัฒนาโดยคนไทยชื่อโปรแกรมปลาดาว


เป็นซอฟต์แวร์ของบริษัทไมโครซอฟต์ซึ่งเป็นที่นิยมใช้มากในปัจจุบัน

       นอกจากนี้ยังสามารถเก็บบันทึกเอกสารนั้นเป็นแฟ้มในสื่อบันทึก เช่น แผ่นบันทึก เพื่อให้พกพาติดตัวไปใช้กับเครื่องอื่น แฟ้มเอกสารที่เก็บไว้แล้วนี้สามารถเรียกมาแสดงผลบนจอภาพเพื่อทำการดัดแปลงใหม่ได้อีกด้วย
       ลักษณะการใช้งานซอฟต์แวร์ประมวลคำจะเป็นการเตรียมเอกสารที่มองเห็นงานพิมพ์ไปปรากฎที่จอภาพ ถ้าพิมพ์ผิดและต้องการแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดทอนที่ตำแหน่งใด จะต้องเคลื่อนย้ายตัวชี้หรือตัวกะพริบบนจอภาพไปยังตำแหน่งนั้นเพื่อทำการแก้ไข เนื่องจากสามารถแทรกหรือลบตัวอักษรหรือข้อความได้ตลอด และโปรแกรมจะคงรูปแบบให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ จึงทำให้ไม่เสียเวลาและสิ้นเปลืองเหมือนการพิมพ์เอกสารด้วยเครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งถ้ามีข้อผิดพลาดจะต้องพิมพ์ใหม่


       ซอฟต์แวร์ประมวลคำ มีคุณสมบัติเด่นกว่าการเตรียมเอกสารด้วยเครื่องพิมพ์ดีดหลายประการ อาจจะสรุปได้ดังนี้

(1) สามารถควบคุมสั่งจัดวางรูปแบบเอกสารได้ใหม่ตามต้องการ โดยจะพิมพ์ผลลัพธ์ออกมาตามรูปแบบที่กำหนด เช่น การกำหนดจำนวนตัวอักษรในแต่ละบรรทัด การกำหนดตำแหน่งเริ่มต้นและตำแหน่งบรรทัด เป็นต้น

(2) ช่วยควบคุมให้แก้ไขดัดแปลงข้อความเป็นกลุ่ม คือสามารถสั่งทำการลบ เคลื่อนย้าย หรือสำเนาข้อความเป็นคำ ประโยคหรือย่อหน้า จากตำแหน่งหนึ่งไปยังตำแหน่งอื่นของเอกสารได้ง่าย

(3) สามารถควบคุมการแสดงตัวอักษรของข้อความที่อาจเป็นตัวเข้ม ตัวหนา ตัวเอียงและขีดเส้นใต้ที่ตำแหน่งต่างๆ ได้อย่างอิสระ การพิมพ์เอกสารออกทางเครื่องพิมพ์จะได้แบบของตัวอักษรที่สวยงามตามต้องการ

(4) เอกสารที่จัดเตรียมไว้สามารถทำการจัดเก็บลงในแผ่นบันทึกในรูปของแฟ้มข้อมูล และสามารถเรียกแฟ้มนั้นจากแผ่นบันทึกกลับมาลงหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อทำการแก้ไขข้อความบนจอภาพได้ทันที

(5) มีคำสั่งในการเรียกค้นคำหรือข้อความที่มีอยู่ในเอกสารได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้สามารถแก้ไขดัดแปลงได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น นอกจากการเรียกค้นแล้ว ยังสามารถสั่งให้มีการแทนที่คำหรือข้อความเดิมด้วยข้อความใหม่ได้ทันทีอย่างอัตโนมัติ เช่นการเปลี่ยนข้อความจาก “คอมพิวเตอร์” เป็น “ไมโครคอมพิวเตอร์” ในทุกๆ แห่งที่พบในเอกสารนั้น เป็นต้น

(6) มีคุณสมบัติให้สามารถทำการเชื่อมแฟ้มข้อความที่อาจเป็นจดหมายกับแฟ้มข้อมูลที่เป็นชื่อหรือที่อยู่บริษัท เพื่อทำการพิมพ์เอกสารลักษณะแบบเดียวกันหลายๆ ชุดพร้อมกัน เช่น การส่งจดหมายเชิญประชุมถึงผู้จัดการบริษัทต่างๆ จำนวนมาก โดยเนื้อหาของข้อความในจดหมายทุกฉบับเหมือนกัน ต่างกันที่ชื่อบริษัท ซอฟต์แวร์ประมวลคำจะพิมพ์จดหมายให้เองครบทุกฉบับด้วยการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทเท่านั้น
       ลักษณะพิเศษที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นเกณฑ์มาตรฐานทั่วไปของซอฟต์แวร์ประมวลคำ ในปัจจุบันซอฟต์แวร์ได้มีการพัฒนาให้ทำงานได้มากขึ้น ใช้งานได้สะดวกขึ้น ซอฟต์แวร์ประมวลคำยุคใหม่ก็ได้มีการพัฒนาเพิ่มคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมาก คุณลักษณะที่เพิ่มขึ้นได้แก่

(1) การช่วยงานด้านการตรวจสอบตัวสะกด โดยเปรียบเทียบข้อมูลกับพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เก็บในรูปของแฟ้ม ถ้ามีการสะกดผิดก็จะมีคำที่คาดว่าถูกต้องแสดงให้เลือกพิจารณานำมาแทนที่

(2) การแสดงความหมายของคำต่างๆ ที่มีเก็บในพจนานุกรมเรียบร้อยแล้ว และการเลือกคำพ้องความหมายมาแทนที่คำเดิม

(3) การสร้างข้อมูลในรูปแบบตารางได้ง่ายและสะดวก

(4) การนำรูปภาพมาผสมรวมกับข้อมูลที่มีแต่ตัวอักษร โดยจะทำงานอยู่ในภาวะกราฟิก พิมพ์ได้ทั้งตัวอักษรและรูปภาพ เราสามารถเลือกชุดแบบตัวอักษรได้หลายแบบ

(5) การช่วยงานด้านการตรวจสอบรูปแบบหรือรูปแบบของประโยค ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบไวยากรณ์ทางภาษา และวิเคราะห์ความน่าอ่านหรือความสละสลวยของเอกสาร วิธีการของการตรวจสอบนี้จะใช้หลักวิชาทางปัญญาประดิษฐ์ว่าด้วยกฎและข้อเท็จจริงของภาษาศาสตร์ ซึ่งรูปแบบของประโยคที่โปรแกรมสามารถวิเคราะห์ได้ในปัจจุบัน จะยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะที่ใช้งานในวงการบริหารธุรกิจเท่านั้น


ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน

      
       การวิเคราะห์และคำนวณตัวเลขของผู้ใช้ ด้วยการสร้างเป็นรูปแบบจำลองในลักษณะของสูตรคำนวณและสมการทางคณิตศาสตร์ มักมีการขีดเขียน คำนวณ และจดบันทึกลงในกระดาษ โดยมีเครื่องคิดเลขเป็นเครื่องมือช่วยในการคำนวณ การคำนวณตามงานที่ออกแบบหรือการค้นหาคำตอบของรูปแบบจำลองสมการที่สร้างขึ้น นับเป็นงานที่น่าเบื่อและต้องใช้ความอดทนมากพอสมควร เพราะผู้ใช้จะต้องทำการคำนวณใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง ตามการแปรเปลี่ยนอย่างไม่หยุดนิ่งขององค์ประกอบหรือปัจจัยสำคัญของงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากงานนั้นเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินด้วยแล้ว การคำนวณต่างๆ ก็ต้องยิ่งระมัดระวังให้มีการตรวจทานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและแม่นยำ

       ซอฟต์แวร์สำเร็จตารางทำงาน หรือกระดาษอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเครื่องมือช่วยเพื่อการวิเคราะห์และคำนวณตัวเลขให้กับผู้ใช้ได้อย่างดี เพราะการใช้งานซอฟต์แวร์นี้ จะเปรียบเหมือนกับการนั่งทำงานอยู่บนโต๊ะทำงาน ที่มีกระดาษแผ่นใหญ่ๆ ประกอบด้วยตารางสี่เหลี่ยมของช่องตามแนวแถวและสดมภ์จำนวนมากมายปรากฏบนจอภาพ โดยแต่ละช่องบนตารางทำงาน



       ภายในซอฟต์แวร์ตารางทำงานจะมีฟังก์ชันต่างๆ จัดมาให้เลือกใช้เรียบร้อยแล้ว เช่น ฟังก์ชันการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ฟังก์ชันการคำนวณทางสถิติ ฯลฯ ซึ่งฟังก์ชันเหล่านี้เปรียบได้กับเครื่องคิดเลขที่วางบนโต๊ะทำงาน ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลจากช่องต่างๆ บนตารางเป็นตัวแปรของฟังก์ชันหรือสูตรคำนวณ เพื่อคำนวณให้ได้ผลลัพธ์ออกมา และนำไปใช้ในการคำนวณของช่องอื่นๆ ต่อไปได้อีก

รูปแสดงความสามารถของซอฟต์แวร์ตารางทำงานในการวิเคราะห์ข้อมูลจากรูป (บน)และแสดงในรูปของแผนภูมิดังรูป (ล่าง)

       ข้อมูลในช่องต่างๆ บนตารางทำงานสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยง่ายด้วย การสั่งงานตามคำสั่งที่ปรากฏบนรายการเมนู ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนี้เปรียบได้กับการมียางลบที่ทำการลบ แล้วบันทึกค่าลงไปใหม่ ถ้าตารางทำงานนี้ไม่ถูกต้องใช้งานไม่ได้ ผู้ใช้อาจลบทั้งตารางและสร้างใหม่เหมือนการขยำกระดาษโยนใส่ถังขยะทิ้งไป แต่ถ้าตารางทำงานนี้ใช้งานได้ดีแล้ว ผู้ใช้ก็สามารถทำการบันทึกข้อมูลไว้ในแผ่นบันทึกเพื่อนำมาใช้งานใหม่ภายหลัง
       ขีดความสามารถพิเศษของตารางทำงานมีมากมาย เช่น สามารถแสดงรายงานต่างๆ ในรูปแบบที่สวยงาม พิมพ์เป็นกราฟิกรูปภาพ หรือการแสดงผลอื่นๆ
       ในสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศยุคปัจจุบัน ข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากจะต้องมีการจัดเก็บ และเรียกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การรวบรวมและเก็บข้อมูลไว้ด้วยกันจะช่วยให้การเรียกค้นเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงทำได้ง่าย ซึ่งการรวบรวมข้อมูลเข้าด้วยกันนี้เรียกว่า ฐานข้อมูล ประโยชน์ของการใช้ฐานข้อมูลจะช่วยให้สามารถใช้ข้อมูลร่วมกัน ช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่จะเกิดขึ้น ช่วยขจัดความขัดแย้งของข้อมูลและสามารถกำหนดความเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ง่าย เป็นต้น

       ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลช่วยให้ผู้ใช้ดำเนินการจัดการข้อมูลได้ง่าย และมีให้เลือกใช้ได้หลายซอฟต์แวร์ โดยเน้นให้ผู้ใช้สามารถสร้างแฟ้มข้อมูล ช่วยในการจัดเก็บ การขอดู การเรียกค้น การเพิ่มเติม การลบ การจัดเรียง และการทำรายงาน

ตัวอย่างซอฟ์แวร์จัดการฐานข้อมูล สามารถสร้างตารางเก็บข้อมูล
แบบฟอร์มสำหรับป้อน แสดงผล และแก้ไขข้อมูล และแบบสอบถามสำหรับสืบค้นข้อมูล


       การจัดเก็บข้อมูลภายใต้การทำงานของซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล เป็นเรื่องทางเทคนิคภายในที่ยุ่งยากซับซ้อน ผู้ใช้งานฐานข้อมูลทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเข้าใจ เพราะซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลจะดำเนินการให้เอง นอกจากนี้ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลยังสามารถควบคุมความถูกต้องของข้อมูลในฐานข้อมูล ข้อมูลที่ปรากฏในฐานข้อมูลจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ความถูกต้อง เช่น เมื่อกำหนดว่าพนักงานของบริษัทแต่ละคนจะทำงานได้เพียงแผนกเดียว พนักงานนั้นจะมีชื่อไปปรากฏสังกัดแผนกอื่นมากกว่าหนึ่งไม่ได้ หรืออายุของพนักงานจะมีค่ามากกว่า 100 ปี ไม่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ความถูกต้องของข้อมูลจะรวมถึงว่า ข้อมูลในฐานข้อมูลจะต้องสอดคล้องหรือไม่เกิดการขัดแย้งกัน เช่น วันเกิดของพนักงานที่แสดงไว้ในที่ต่างๆ จะต้องบันทึกไว้ตรงกัน
       ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลจะต้องมีคำสั่งซึ่งอาจเลือกได้จากเมนูรายการคำสั่ง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ในการควบคุมการทำงาน เมื่อมีการกำหนดกฎเกณฑ์ไว้แล้ว ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลจะทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมความถูกต้องให้กับผู้ใช้ ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลมีมากมายหลายโปรแกรม ส่วนใหญ่เน้นการใช้งานที่ง่ายและใช้งานในระดับตั้งแต่ผู้ใช้คนเดียว หรือเชื่อมโยงเป็นกลุ่ม ตลอดจนเชื่อมต่อฐานข้อมูลอื่น ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลที่รู้จักกันดี ได้แก่ แอกเซส ออราเคิล อินฟอร์มิกซ์ มายเอสคิวแอล เป็นต้น

ซอฟต์แวร์นำเสนอ


       การนำข้อมูลตัวเลข โดยปกติจะอยู่ในรูปของตาราง เป็นแถวและสดมภ์ ซึ่งไม่ใช่วิธีนำเสนอข้อมูลที่ดี เพราะการนำเสนอข้อมูลในรูปตารางไม่ดึงดูดความสนใจ และตีความข้อมูลตัวเลขได้ลำบากไม่สมบูรณ์ การแปลงข้อมูลตัวเลขให้อยู่ในรูปภาพและแผนภูมิจะเป็นวิธีที่ดีและมีประสิทธิภาพสูง เพราะการนำเสนอข้อมูลด้วยวิธีนี้จะดึงดูดความสนใจสื่อความหมายได้กระจ่างชัด และเข้าใจง่าย
       ในปัจจุบันนิยมนำข้อมูลมาเขียนเป็นแผนภูมิหรือนำข้อมูลมาวิเคราะห์คำนวณตัวเลขทางสถิติ ได้ข้อมูลตัวเลขชุดใหม่ แล้วจึงค่อยนำมาสร้างเป็นแผนภูมิ ซึ่งแผนภูมิที่ได้นี้จะนำไปเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงเพื่อใช้วางแผนและตัดสินใจ หรืออาจใช้เพื่อนำเสนอบุคคลทั่วไป เพื่อการประชาสัมพันธ์ แผนภูมิทางธุรกิจเพื่อการนำเสนอมักมีการจัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพราะจะต้องให้เข้าใจง่าย ดึงดูดความสนใจผู้พบเห็น



       ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ด้านกราฟิกให้เลือกใช้มาก ซึ่งซอฟต์แวร์เหล่านี้มักจะเน้น การใช้งานที่ง่ายและสะดวก มีชนิดของแผนภูมิให้เลือกใช้หลายแบบตามความเหมาะสมของข้อมูล การปรับแต่งและจัดรูปแบบแผนภูมิใหม่สามารถทำได้ง่ายด้วยคำสั่งเพียง 1 หรือ 2 คำสั่ง นอกจากนี้ยังสามารถโอนย้ายข้อมูลจากซอฟต์แวร์สำเร็จอื่น เช่น จากระบบฐานข้อมูลและตารางทำงาน มาแสดงแผนภูมิได้ด้วย



ตัวอย่างงานที่สร้างจากซอฟต์แวร์นำเสนอ
ที่มีการแทรกรูปภาพทำให้งานนำเสนอน่าสนใจมากขึ้น

       แผนภูมิที่ได้จากซอฟต์แวร์สำเร็จข้างต้นให้ผลของภาพชัดเจน และละเอียดดี ไม่แพ้ภาพของแผนกศิลป์ การสร้างปรับแต่งภาพ ก็สามารถทำได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยังสามารถเก็บภาพที่ได้ใส่ไว้ในแผ่นบันทึกในรูปของแฟ้มข้อมูล และนำผลออกทางเครื่องพิมพ์ เครื่องวาดรูป หรือออกเป็นภาพสไลด์ก็ได้
       ซอฟต์แวร์ด้านกราฟิกแบ่งได้หลายประเภทของการใช้งาน เช่น ทางธุรกิจ ทางการออกแบบ ซอฟต์แวร์กราฟิกเชิงธุรกิจจะช่วยในงานด้านวิเคราะห์และเสนอข้อมูลในรูปของแผนภูมิ โดยสามารถปรับแต่งรูปแผนภูมิให้สวยงามเพื่อนำเสนอและจูงใจผู้ชม
       โดยทั่วไปแล้วซอฟต์แวร์ด้านนี้จะสามารถสร้างแผนภูมิหลักที่สำคัญต่อไปนี้ได้คือแผนภูมิแท่ง แผนภูมิแท่งซ้อน แผนภูมิแท่งเหลื่อมทับ แผนภูมิวงกลม แผนภูมิวงกลมแยกส่วน กราฟเส้นตรง แผนภูมิกระจัดกระจาย แผนภูมิพื้นที่และแผนภูมิสูงต่ำ
       ในการปรับแต่งรูปแผนภูมิ สามารถกำหนดข้อความ หัวเรื่อง ข้อความอธิบายแกนเลือกขนาดและชุดแบบอักษร เลือกสีหรือแถบระบายของแท่งหรือชิ้นส่วนแผนภูมิ และแทรกภาพสัญลักษณ์เข้ารวมในรูปแผนภูมิ นอกจากนี้ในการรับข้อมูลเข้า สามารถเลือกรับจากแผงแป้นอักขระ จากแฟ้มข้อมูล หรือจากโปรแกรมสำเร็จอื่น เช่น รับแฟ้มตารางทำงานมาปรับแต่งแผนภูมิให้ดีขึ้นได้ เพิ่มความสะดวกในการใช้งานกราฟิกเชิงธุรกิจอีกด้วย

ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิก

       ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิกเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่เหมือนกระดาน หรือสมุดวาดเขียนที่ผู้ใช้สามารถสร้างภาพเขียนได้ และมีอุปกรณ์ที่ช่วยในการวาดรูปเช่น ปากกาช่วยวาดลายเส้น พู่กันระบายสี และยางลบช่วยลบลายเส้นหรือสีที่ไม่ต้องการได้


ตัวอย่างการกวาดภาพโดยใช้ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิก



                              ตัวอย่างการตกแต่งภาพ ตัดต่อภาพโดยใช้ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิก


       นอกจากนี้สามารถนำแฟ้มข้อมูลที่เป็นรูปภาพที่ถ่ายโดยใช้กล้องถ่ายรูปดิจิตอลมาแก้ไข หรือตกแต่งได้ โดยซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิกมีเครื่องมือที่สามารถปรับเปลี่ยนความเข้มของแสง ปรับเปลี่ยนความแตกต่างของสีวัตถุในภาพ และสามารถตัดแปะองค์ประกอบของภาพหลายๆ ภาพมาสร้างเป็นภาพใหม่ได้เหมือนการสร้างศิลปะ นอกจากนี้ ยังสามารถเปลี่ยนลักษณะของภาพ ลักษณะของสีให้มีพื้นสีแบบต่างๆ ได้ ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิกที่เป็นที่นิยมเช่น โฟโตชอป เพนท์บรัช เพนท์ชอป
       ซอฟต์แวร์จัดการด้านกราฟิกบางโปรแกรม สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์นำเข้าสแกนเนอร์ เพื่อจัดการนำแปลงข้อมูลรูปภาพให้เป็นข้อมูลแบบดิจิตอล และจัดเก็บข้อมูลในรูปของแฟ้มข้อมูลเพื่อนำมาแก้ไขต่อไป
ซอฟต์แวร์ติดต่อสื่อสาร


       เมื่อระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ทำงานและการใช้งานคอมพิวเตอร์ของมนุษย์มากขึ้น และมีบริการหรือการประยุกต์ทำงานหลายๆ อย่างบนระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากซีกโลกหนึ่งสามารถเลือก ค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลในอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้การติดต่อสื่อสารไม่ว่าในรูปของการส่งข้อความหรือการติดต่อด้วยเสียงก็สามารถทำได้ ความสะดวกสบายเหล่านี้ล้วนแต่ต้องอาศัยซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ทำหน้าที่จัดการทั้งสิ้น ซอฟต์แวร์ประยุกต์ในกลุ่มติดต่อสื่อสารที่มีใช้งานเป็นหลักในสังคมปัจจุบันคือซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บ (web browser)


ตัวอย่างการใช้งานซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บ
สืบค้นสารสนเทศที่เผยแพร่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

       ซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถสืบค้น และแสดงสารสนเทศที่นำเสนอในรูปของเว็บเพจ (web page) ได้ โดยที่สารสนเทศดังกล่าวอาจจะเป็นสารสนเทศที่เก็บอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บรรจุซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บหรืออยู่ที่เครื่องแม่ข่าย (web server) ที่ให้บริการเผยแพร่สารสนเทศบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สารสนเทศเหล่านั้นอาจอยู่ในรูปของข้อความ รูปภาพ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว โดยซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บมีหน้าที่ติดต่อกับระบบเก็บข้อมูลที่เครื่องแม่ข่าย รับคำสั่งจากเครื่องที่ใช้งานอยู่แล้วเรียกดึงข้อมูลที่อยู่ในเครื่องแม่ข่ายมาแสดงผลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน และนอกจากนี้ซอฟต์แวร์ชนิดนี้สามารถช่วยให้ผู้ใช้ถ่ายโอนข้อมูลระหว่างเครื่องแม่ข่ายและลูกข่ายได้ ทั้งการส่งข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่จากเครื่องลูกข่ายไปยังเครื่องแม่ข่ายที่เรยกว่าการบรรจุขึ้น (upload) และการถ่ายโอนข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการจากเครื่องแม่ข่ายมาไว้ในเครื่องลูกข่ายที่เรียกว่าการบรรจุลง (download) และในปัจจุบันผู้ใช้สามารถรับ-ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางซอฟต์แวร์ชนิดนี้ได้อีกด้วย
       การค้นสารสนเทศโดยใช้ซอฟต์แวร์ค้นผ่านเว็บนี้มีด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ การสืบค้น (browse) ซึ่งเป็นการเปิดดูเอกสารที่นำเสนออยู่บนเว็บไปเรื่อยๆ โดยเอกสารเหล่านั้นมีการเชื่อมโยง (link) กันอยู่ผู้ใช้สามารถค้นข้อมูลได้โดยการเลือกเปิดดูเอกสารตามการเชื่อมโยงเหล่านั้นและอีกแบบหนึ่งเรียกว่าการค้นหา (search) เป็นการค้นหาสารสนเทศเฉพาะหัวข้อที่ต้องการ การค้นหาต้องใช้ระบบที่เรียกว่าโปรแกรมค้นหา (search engine) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยในการค้นหาเอกสารหรือบทความที่เกี่ยวข้อกับเรื่องที่ผู้ใช้สนใจโดยใช้คำสำคัญ (keyword) ที่ผู้ใช้ป้อนเข้าสู่ระบบ และระบบจะนำคำสำคัญไปเปรียบเทียบกับคำในเอกสารต่างๆ ที่เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต และแสดงผลการค้นหาแก่ผู้ใช้

ตัวอย่างการค้นหาข้อมูลโดยใช้โปรแกรมค้นหา โดยการป้อนคำสำคัญ
เมื่อเสร็จสิ้นการค้นหาโปรแกรมจะแสดงผลการค้นหาแก่ผู้ใช้

ภาษาคอมพิวเตอร์


       มนุษย์ใช้ภาษาในการสื่อสารมาตั้งแต่สมัยโบราณ การใช้ภาษาเป็นเรื่องที่มนุษย์พยายามถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกต่างๆ เพื่อการโต้ตอบและสื่อความหมาย ภาษาที่มนุษย์ใช้ติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน ต่างเรียกว่า ภาษาธรรมชาติ (natural language) เพราะมีการศึกษา ได้ยิน ได้ฟังกันมาตั้งแต่เกิด
       การใช้งานคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ทำงานตามที่ต้องการ จำเป็นต้องมีการกำหนดภาษาสำหรับใช้ติดต่อสั่งงานกับคอมพิวเตอร์ ภาษาคอมพิวเตอร์จะเป็นภาษาประดิษฐ์ (artificial language) ที่มนุษย์คิดสร้างมาเอง เป็นภาษาที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะ มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวและจำกัด คืออยู่ในกรอบให้ใช้คำและไวยากรณ์ที่กำหนดและมีการตีความหมายที่ชัดเจน จึงจัดภาษาคอมพิวเตอร์เป็น ภาษาที่มีรูปแบบเป็นทางการ (formal language) ต่างกับภาษาธรรมชาติที่มีขอบเขตกว้างมาก ไม่มีรูปแบบตายตัวที่แน่นอน กฎเกณฑ์ของภาษาจะขึ้นกับหลักไวยากรณ์และการยอมรับของกลุ่มผู้ใช้นั้น ๆ
       ภาษาคอมพิวเตอร์ อาจแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ ภาษาเครื่อง ภาษาระดับต่ำ (low-level language) และภาษาระดับสูง (high-level language)

ภาษาเครื่อง


       การเขียนโปรแกรมเพื่อสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานในยุคแรกๆ จะต้องเขียนด้วยภาษาซึ่งเป็นที่ยอมรับของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าภาษาเครื่อง ภาษานี้ประกอบด้วยตัวเลขล้วน ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ทันที ผู้ที่จะเขียนโปรแกรมภาษาเครื่องได้ต้องสามารถจำรหัสแทนคำสั่งต่างๆ ได้ และในการคำนวณต้องสามารถจำได้ว่าจำนวนต่างๆ ที่ใช้ในการคำนวณนั้นถูกเก็บไว้ที่ตำแหน่งใด ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดในการเขียนโปรแกรมจึงมีมาก นอกจากนี้เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละระบบมีภาษาเครื่องที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดความไม่สะดวกเมื่อมีการเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์เพราะจะต้องเขียนโปรแกรมใหม่ทั้งหมด

ภาษาระดับต่ำ

       เนื่องจากภาษาเครื่องเป็นภาษาที่มีความยุ่งยากในการเขียนดังได้กล่าวมาแล้วจึงไม่มีผู้นิยมและมีการใช้น้อย ดังนั้นได้มีการพัฒนาภาษาคอมพิวเตอร์ขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยการใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นรหัสแทนการทำงานและใช้การตั้งชื่อตัวแปรแทนตำแหน่งที่ใช้เก็บจำนวนต่าง ๆ ซึ่งเป็นค่าของตัวแปรนั้น ๆ การใช้สัญลักษณ์ช่วยให้การเขียนโปรแกรมนี้เรียกว่าภาษาระดับต่ำ
       ภาษาระดับต่ำเป็นภาษาที่มีความใกล้เคียงกับภาษาเครื่องมาก ดังนั้นบางครั้งจึงเรียกภาษานี้ว่า ภาษาอิงเครื่อง (machine – oriented language) ตัวอย่างของภาษาระดับต่ำได้แก่ ภาษาแอสแซมบลี เป็นภาษาที่ใช้คำในอักษรภาษาอังกฤษเป็นคำสั่งให้เครื่องทำงาน เช่น ADD หมายถึง บวก SUB หมายถึง ลบ เป็นต้น การใช้คำเหล่านี้ช่วยให้การเขียนโปรแกรมง่ายขึ้นกว่าการใช้ภาษาเครื่องซึ่งเป็นตัวเลขล้วน ตารางที่ 5.1 แสดงตัวอย่างของภาษาระดับต่ำและภาษาเครื่องที่สั่งให้มีการบวกจำนวนที่เก็บอยู่ในหน่วยความจำ
การใช้โปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาแอสแซมบลีนั้น เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานได้ทันที จำเป็นต้องมีการแปลโปรแกรมจากภาษาแอสแซมบลีให้เป็นภาษาเครื่องก่อน โดยอาศัยโปรแกรมในการแปลที่มีชื่อว่าแอสแซมเบลอร์ (assembler) ซึ่งแตกต่างไปตามเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละชนิด ดังนั้นแอสเซมเบลอร์ของเครื่องชนิดหนึ่งจะไม่สามารถใช้แปลโปรแกรมภาษาแอสแซมบลีของชนิดอื่นๆ ได้
       ภาษาแอสแซมบลีนี้ยังคงใช้ยาก เพราะผู้เขียนโปรแกรมจะต้องเข้าใจการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างละเอียด ต้องรู้ว่าจำนวนที่จะนำมาคำนวณนั้นอยู่ ณ ตำแหน่งใดในหน่วยความจำ ในทำนองเดียวกับการเขียนโปรแกรมเป็นภาษาเครื่อง ภาษาแอสแซมบลีจึงมีผู้ใช้น้อยและมักจะใช้ในกรณีที่ต้องการควบคุมการทำงานภายในของตัวเครื่องคอมพิวเตอร์

ภาษาระดับสูง


       ภาษาระดับสูงเป็นภาษาที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเขียนโปรแกรม กล่าวคือ ลักษณะของคำสั่งจะประกอบด้วยคำต่างๆ ในภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้อ่านสามารถเข้าใจความหมายได้ทันที ผู้เขียนโปรแกรมจึงเขียนโปรแกรมด้วยภาษาระดับสูงได้ง่ายกว่าเขียนด้วยภาษาแอสแซมบลี หรือภาษาเครื่อง ภาษาระดับสูงมีมากมายหลายภาษา อาทิเช่น ภาษาฟอร์แทรน (FORTRAN) ภาษาโคบอล ภาษาปาสคาล (Pascal) ภาษาเบสิก (BASIC) ภาษาวิชวลเบสิก (Visual Basic) ภาษาซี (C) และภาษาจาวา (Java) เป็นต้น โปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงแต่ละภาษาจะต้องมีโปรแกรมที่ทำหน้าที่แปลภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง เช่น โปรแกรมแปลภาษาฟอร์แทรนเป็นภาษาเครื่อง โปรแกรมแปลภาษาปาสคาลเป็นภาษาเครื่อง คำสั่งหนึ่งคำสั่งในภาษาระดับสูงจะถูกแปลเป็นภาษาเครื่องหลายคำสั่ง

ภาษาระดับสูงที่จะกล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่

(1) ภาษาฟอร์แทรน (FORmula TRANslator : FORTRAN) จัดเป็นภาษาระดับสูงที่เก่าแก่ที่สุด ได้รับการคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกราว พ.ศ. 2497 โดยบริษัทไอบีเอ็ม เป็นภาษาที่เหมาะสำหรับงานที่ต้องการการคำนวณ เช่นงานทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และงานวิจัยต่าง ๆ เนื่องจากแนวคิดในการเขียนโปรแกรมในระยะหลังนี้ เปลี่ยนมานิยมการเขียนโปรแกรมแบบโครงสร้างมากขึ้น ลักษณะของคำสั่งภาษาฟอร์แทรนแบบเดิม ไม่เอื้ออำนวยที่จะให้เขียนได้ จึงมีการปรับปรุงโครงสร้างของภาษาฟอร์แทรนให้สามารถเขียนโปรแกรมแบบโครงสร้างขึ้นมาได้ในปี พ.ศ. 2509 เรียกว่า FORTRAN 66 และในปี พ.ศ. 2520 สถาบันมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา (American National Standard Institute หรือ ANSI) ได้ปรับปรุง FORTRAN 66 และยอมรับให้เป็นภาษาฟอร์แทรนที่เป็นมาตรฐานเรียกว่า FORTRAN 77 ใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีตัวแปลภาษานี้

(2) ภาษาโคบอล (Common Business – Oriented Language : COBOL) เป็นภาษาที่พัฒนาขึ้นในราว พ.ศ. 2502 ต่อมาได้รับการปรับปรุงจากคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานธุรกิจและรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา เป็นภาษาโคบอลมาตรฐานใน พ.ศ. 2517 ภาษาโคบอลเป็นภาษาที่เหมาะสมสำหรับงานด้านธุรกิจ เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ส่วนมากมีโปรแกรมแปลภาษาโคบอล

(3) ภาษาเบสิก (Beginner’s All - purpose Symbolic Instruction Code : BASIC)เป็นภาษาที่ได้รับการคิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่วิทยาลัยดาร์ทมัธ (Dartmouth College) เผยแพร่เป็นทางการในปี พ.ศ. 2508 ภาษาเบสิกเป็นภาษาที่สร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้สอนเขียนโปรแกรมแทนภาษาคอมพิวเตอร์ภาษาอื่น เช่น ภาษาฟอร์แทรน ซึ่งมีขนาดใหญ่และต้องใช้หน่วยความจำสูงในการทำงาน ซึ่งไม่เหมาะกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในสมัยนั้น ภาษาเบสิกเป็นภาษาที่มีขนาดเล็ก เป็นตัวแปลภาษาชนิดที่เรียกว่าอินเตอร์เพรทเตอร์ ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนในหัวข้อถัดไป
       นอกจากนี้ ภาษาเบสิกเป็นที่ง่ายต่อการเขียนซึ่งผู้เขียนจะสามารถนำไปประยุกต์กับการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทุกสาขาวิชา ผู้ที่เพิ่งฝึกเขียนโปรแกรมใหม่ ๆ หรือผู้ที่ไม่ใช่นักเขียนโปรแกรมอาชีพ แต่เป็นเพียงวิศวกร หรือนักวิจัย จะสามารถหัดเขียนโปรแกรมภาษาเบสิกได้ในเวลาไม่นานนัก ปกติภาษาเบสิกส่วนใหญ่ใช้กับไมโครคอมพิวเตอร์

(4) ภาษาปาสคาล (Pascal) ตั้งชื่อตามนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ เบลส ปาสคาล (Blaise Pascal ) ซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นผู้ผลิตเครื่องคิดเลขโดยใช้เฟืองหมุน ภาษาปาสคาลคิดขึ้นในปี พ.ศ. 2514 โดยนิคลอสเวียซ (Niklaus Wirth) ศาสตราจารย์วิชาคอมพิวเตอร์ชาวสวิส ภาษาปาสคาลได้รับการออกแบบให้ใช้ง่ายและมีโครงสร้างที่ดีจึงเหมาะกับการใช้สอนหลักการเขียนโปรแกรม ปัจจุบันภาษาปาสคาลยังคงได้รับความนิยมใช้ในการเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

(5) ภาษาซีและซีพลัสพลัส (C และ C++) ภาษาซีเป็นภาษาที่พัฒนาจากห้องปฏิบัติการเบลล์ของบริษัทเอทีแอนด์ทีในปี พ.ศ .2515 หลังจากที่พัฒนาขึ้นได้ไม่นานภาษาซีก็กลายเป็นภาษาที่นิยมในหมู่นักเรียนโปรแกรมมาก และมีใช้งานเครื่องทุกระดับ ทั้งนี้ เนื่องจากภษาซีได้รวมเอาข้อมูลของภาษาระดับสูงแลภาษาระดับเข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือ เป็นภาษาที่มีไวยกรณ์ที่เข้าใจง่ายทำให้เขียนโปรแกรมได้ง่ายเช่นเดียวกับภาษาระดับสูงทั่วไป แต่ประสิทธิภาพและความเร็วในการทำงานดีกว่ามาก เนื่องจากมีการทำงานเหมือนภาษาระดับต่ำ สามารถทำงานได้ในระดับที่เป็นการควบคุมฮาร์ดแวร์ได้มากกว่าภาษาระดับสูงอื่นๆ ดังจะเห็นว่าภาษาซีเป็นภาษาที่สามารถพัฒนาระบบปฏิบัติการได้ เช่น ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์

       นอกจากนี้เมื่อแนวคิดของการเขียนโปรแกรมแบบเชิงวัตถุ (Object Oriented Programing : OOP) ได้เข้ามามีบทบาทในวงการคอมพิวเตอร์มากขึ้น ภาษาซีก็ยังได้รับการพัฒนาดดยประยุกต์ใช้กับการเขียนโปรแกรมดังกล่าว เกิดเป็นภาษาใหม่ชื่อว่า ภาษาซีพลัสพลัส (C++)

(6) ภาษาวิชวลเบสิก (Visual Basic) เป็นภาษาที่พัฒนาต่อมาจากภาษาเบสิก สำหรับภาษาวิชวลเบสิกเป็นภาษาที่ใช้ไวยกรณ์บางส่วนของภาษาเบสิกในการเขียนโปรแกรม แต่มีแยวคิดและวิธีการพัฒนาโปรแกรมที่แตกต่างจากภาษาเบลิกโดยสิ้นเชิง รวมทั้งการใช้เนื้อที่ในหน่วยความจำก็แตกต่างกันมาก ทั้งนี้ เนื่องจากภาษาวิชวลเบสิกใช้แนวคิดการเขียนโปรแกรมแบบรูปภาพ (visual programing) ในการพัฒนาโปรแกรม ภาษานี้พัฒนาขึ้นโดยบริษัทไมโครซอฟต์ ออกแบบเพื่อเขียนโปรแกรมที่สามารถใช้งานได้บนระบบปฏิบัติการแบบจียูไอ เช่น ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์วินโดวส์ มีการติดต่อกับผู้ใช้โดยใช้รูปภาพ การเขียนโปรแกรมทำได้ง่ายกว่าการเขียนโปรแกรมแบบเก่ามากซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดในบทต่อไป

(7) การเขียนโปรแกรมแบบจินตภาพ (visual programing) ในการพัฒนาโปรแกรม ภาษานี้พัฒนาขึ้นโดยบริษัทไมโครซอฟต์ ออกแบบเพื่อเขียนโปรแกรมที่สามารถใช้งานได้บนระบบปฏิบัติการแบบจียูไอ เช่น ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์วินโดวส์ มีการติดต่อกับผู้ใช้โดยใช้รูปภาพ การเขียนโปรแกรมทำได้ง่ายกว่าการเขียนโปรแกรมแบบเก่ามาก

(8)ภาษาจาวา (JAVA) พัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2534 โดยบริษัทซันไมโครซิสเตมส์ และเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมสูงมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นภาษาที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถเขียนโปรแกรม และใช้งานได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกประเภท และระบบปฏิบัติการทุกรูปแบบ ในช่วงแรกที่เริ่มมีการนำภาษาจาวามาใช้งาน จะเป็นการใช้งานบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นภาษาที่เน้นการทำงานบนเว็บ แต่ปัจจุบันสามารถนำมาประยุกต์สร้างโปรแกรมใช้งานทั่วไปได้
       นอกจากนี้ เมื่อเทคโนโลยีของการสื่อสารก้าวหน้าขึ้น จนกระทั่งเครื่องคอมพิวเตอร์ปาล์มท็อป หรือแม้แต่โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตและใช้งานระบบเวิร์ดไวด์เว็บได้ ภาษาจาวาก็สามารถสร้างส่วนที่เรียกว่าแอพเพลต (applet) ให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่กล่าวข้างต้นเรียกใช้งานจากเครื่องที่เป็นแม่ข่าย (server) ได้

(9) ภาษาเดลไฟล์ (Delphi) เป็นภาษาที่ได้รับความนิยมมากภาษาหนึ่ง แนวคิดเขียนโปรแกรมภาษาเดลไฟล์เหมือนกับแนวคิดของภษาวิชวลเบสิกคือเป็นการเขียนโปรแกรมเชิงรูปภาพแต่ภาษาพื้นฐานที่ใช้ในการเขียนโปรแกรมจะเป็นภาษาปาสคาล ในการเขียนโปรแกรมเชิงรูปภาพนี้มีคอมโพเนนต์ (component) ที่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบเพื่อสร้างส่วนติดต่อผู้ใช้ที่เป็นแบบกราฟิกทำให้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนามีความน่าสนใจและใช้งานง่ายขึ้น การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาเดลไฟล์จึงเป็นที่นิยมในการนำเป็นพัฒนาโปรแกรมใช้งานมาก รวมทั้งภาษาปาสคาลเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายเหมาะแก่การนำมาใช้สอนเขียนโปรแกรม

การทำงานของโปรแกรมแปลภาษา


       ดังกล่าวมาแล้วว่าในการประมวลผลโปรแกรมที่เขียนขึ้นด้วยภาษาระดับสูงจำเป็นต้องอาศัยโปรแกรมที่ทำหน้าที่ช่วยในการแปลโปรแกรมภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่อง โปรแกรมภาษาที่ใช้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะได้แก่

(1) คอมไพเลอร์ (compiler) เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ในการแปลโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงที่เรียกกันว่า โปรแกรมต้นฉบับ (source program) ให้เป็นโปรแกรมภาษาเครื่อง (object program) ถ้ามีข้อผิดพลาดเครื่องจะพิมพ์รหัสหรือข้อผิดพลาดออกมาด้วย ภายหลังการแปลถ้าไม่มีข้อผิดพลาด ผู้ใช้สามารถสั่งประมวลผลโปรแกรมและสามารถเก็บโปรแกรมที่แปลภาษาเครื่องไว้ใช้งานต่อไปได้อีกโดยไม่ต้องทำการแปลโปรแกรมซ้ำอีก
       ตัวอย่างโปรแกรมแปลภาษาแบบนี้ ได้แก่ โปรแกรมแปลภาษาฟอร์แทรน โปรแกรมแปลภาษาโคบอล โปรแกรมแปลภาษาปาสคาล โปรแกรมแปลภาษาซี

(2) อินเตอร์พรีเตอร์ (Interpreter)เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่ในการแปลโปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงให้เป็นภาษาเครื่องเช่นเดียวกับคอมไพเลอร์ ความแตกต่างจะอยู่ที่อินเตอร์พรีเตอร์จะทำการแปลและประมวลผลทีละคำสั่ง ข้อเสียของอินเตอร์พรีเตอร์ก็คือ ถ้านำโปรแกรมนี้มาใช้งานอีกจะต้องทำการแปลโปรแกรมทุกครั้ง ภาษาบางภาษามีโปรแกรมแปลทั้งสองลักษณะ เช่น ภาษาเบสิก เป็นต้น


ระบบติดต่อใช้งานคอมพิวเตอร์


       ตามปกติเมื่อซื้อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มาใช้งาน มักจะได้ระบบปฏิบัติการมาพร้อมกับเครื่อง ซึ่งสามารถช่วยจัดการให้ผู้ใช้เรียกใช้หรือติดต่อกับเครื่องได้ทันที โดยรูปแบบของการติดต่อกับเครื่องจะขึ้นกับระบบปฏิบัติการที่ติดตั้ง และซอฟต์แวร์เสริมสภาพแวดล้อมการใช้งาน ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบติดต่อระหว่างเครื่องกับผู้ใช้ให้ใช้ง่ายและทำงานได้รวดเร็วขึ้น ระบบติดต่อใช้งานคอมพิวเตอร์ อาจแบ่งได้เป็นสามกลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มพิมพ์คำสั่งเข้าไปทีละบรรทัด กลุ่มเลือกรายการเมนู และกลุ่มเลือกสัญรูป

1 กลุ่มพิมพ์คำสั่งเข้าทีละบรรทัด

       ระบบการติดต่อแบบนี้เป็นระบบติดต่อแบบแรกที่พัฒนามาพร้อมๆ กับคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะมีการพัฒนาระบบอื่นๆ เป็นการป้อนคำสั่งทีละบรรทัด ซึ่งไม่เอื้อต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์เท่าใดนัก เพราะผู้ใช้จะต้องเรียนรู้หรือจดจำคำสั่งต่าง ๆ ไว้ให้ได้เสียก่อน เช่นการเรียกใช้คำสั่งของดอส ระบบนี้ ผู้ใช้จะมีความสับสนในระยะแรก เพราะจะต้องเรียนรู้คำสั่งว่าใช้งานอะไร และใช้ได้อย่างไร ซึ่งการป้อนหรือพิมพ์คำสั่งเข้าไปจะต้องพิมพ์ไม่ผิดเลย ระบบติดต่อนี้จะใช้ยากและเสียเวลาบ้างถ้าจำคำสั่งไม่ได้ แต่ถ้าใช้ไปนาน ๆ จนคุ้นเคย อาจมีข้อดีที่สามารถเรียกโปรแกรมมาทำงานได้รวดเร็วที่สุด ใช้พื้นที่หน่วยความจำน้อยเพราะลดการแสดงผลในส่วนของกราฟิก

2 กลุ่มเลือกรายการเมนู

       ในระบบนี้จะแสดงรายการย่อยของคำสั่งต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นข้อความ ตัวอักษรไม่เป็นรูปกราฟิก ผู้ใช้เพียงแต่เลื่อนตัวชี้ แถบสี หรือสัญลักษณ์ลูกศรขึ้นหรือลง รูปสัญลักษณ์อื่น ๆ ไปยังรายการที่ต้องการ แล้วกดปุ่มเลือกรายการนั้น หรืออาจใช้เมาส์เลือกรายการใช้เช่นกัน ระบบติดต่อใช้งานคอมพิวเตอร์กลุ่มนี้จะใช้งานได้ง่ายขึ้นไม่ต้องจดจำคำสั่งมาก เพราะจะมีรายการคำสั่งแสดงไว้ให้เลือก

3 กลุ่มเลือกสัญรูป


       มีลักษณะคล้ายระบบติดต่อกลุ่มที่สองที่เป็นรายการเมนูให้เลือก เพียงแต่ว่ารายการของกลุ่มที่สามจะเป็นรูปภาพ หรือสัญรูปสำหรับเลือกโดยมีอุปกรณ์เมาส์เป็นตัวเลื่อนตัวชี้และเลือกรายการ ในบางกรณีก็อาจเป็นรายการเมนูย่อยของข้อมูลในระบบ การติดต่อระหว่างเครื่องกับผู้ใช้ในลักษณะนี้ได้รับความสนใจมาก เพราะใช้งานง่าย ไม่ต้องเรียนรู้ หรือจดจำคำสั่งที่ซับซ้อน
       ระบบติดต่อใช้งานในกลุ่มที่สามที่มีผู้นิยมหรือกล่าวถึงกันมากคือ ระบบติดต่อผู้ใช้เชิงกราฟิกเรียกว่าจียูไอ นับเป็นระบบที่แสดงรูปกราฟิกแบบบิตแมพ (bit map) ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น วินโดวส์ ดอส โอเอสทู หรือยูนิกส์ ต่างก็มีซอฟต์แวร์มาเสริมสภาพการใช้งานเป็นแบบจียูไอกันทั้งหมด
       ซอฟต์แวร์ประเภทจียูไอ ส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมที่ซับซ้อนและมีขีดความสามารถสูงดังนั้นการติดต่อหรือการเรียนรู้จึงยากกว่าปกติ แต่หลังจากติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว โปรแกรมกุยจะใช้งานได้ง่าย และถ้านำไปทำงานในเครื่องความเร็วสูง ก็จะช่วยประหยัดเวลา และทำให้โปรแกรมต่าง ๆ ใช้งานง่ายขึ้น โปรแกรมกุยเป็นโปรแกรมขนาดใหญ่จึงใช้พื้นที่หน่วยความจำมาก ต้องใช้ตัวประมวลผลที่มีขีดความสามารถสูง จึงจะทำงานได้ผล
       ลักษณะเด่นของระบบติดต่อกุยเมื่อใช้กับซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการหลายภารกิจ คือ สามารถทำหลายงานได้ในเวลาเดียวกัน โดยงานหนึ่ง ๆ จะปรากฏในช่องหน้าต่างที่เปิดขึ้นมาบนจอภาพ สามารถสลับระหว่างช่องหน้าต่างไปมา เปลี่ยนขนาดและย้ายตำแหน่งของช่องหน้าต่างและการโอนย้ายข้อมูลระหว่างช่องหน้าต่าง หรือระหว่างโปรแกรมได้ ในส่วนของผู้ที่เป็นนักเขียนโปรแกรมก็จะได้ประโยชน์ สามารถเขียนโปรแกรมประยุกต์สร้างเป็นเมนูภาพ สัญรูป และช่องหน้าต่างแสดงข้อมูล

ระบบติดต่อกุยที่สมบูรณ์แบบควรมีองค์ประกอบ ดังนี้

1) มีระบบที่ใช้รูปกราฟิกและสัญรูป

2) มีการแสดงรายการบนจอที่สวยงาม น่าดู และให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินกับการใช้งาน

3) สามารถพิมพ์ผลลัพธ์ที่ปรากฏบนจอได้เหมือนกับที่เห็น

4) สนับสนุนการใช้เครื่องพิมพ์หลายรุ่น

5) แสดงองค์ประกอบของระบบไม่ว่าจะเป็นช่องหน้าต่าง หรือรายการเมนูเป็นมาตรฐานเดียวกันจนทำให้แยกไม่ออกว่ากำลังทำงานอยู่เครื่องต่างระบบหรือทำงานต่างโปรแกรม เป็นต้น

6) มีลักษณะการใช้งานแบบเลือกรายการ เลือกชิ้นวัตถุที่สามารถชี้และเลือกด้วยเมาส์

7) มีระบบที่ติดตั้งได้ง่ายและสามารถปรับเปลี่ยนระบบภายในได้ง่าย

8) สามารถทำงานเข้ากับได้กับฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์รุ่นเก่า

9) สนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโปรแกรม











10 ความคิดเห็น:

  1. โอเค

    เนื้อหาดี

    ใช้ได้

    ตอบลบ
  2. เนื้อหาดี....มีสาระจัง
    (เม้นกลับด้วยนะ)

    ตอบลบ
  3. เม้ลลๆๆๆหั้ยกัลด้วยน๊าส์....


    ขอบคุงทุกคอมเม้ลๆนะคร้า...


    คอมเม้ลลอาจารย์คือสวรรค์เลย...อิอิ

    ตอบลบ
  4. เนื้อหาดีนะ
    เยอะๆๆ
    เม้นกับบ้างน้า

    ตอบลบ
  5. ดีดีจร้า


    เนื้อหาเยอะมากเเลย


    ดีดีได้ความรู้เพิ่ม


    เม้นให้หน่อยนะ

    ตอบลบ
  6. เนื้อหาละเอียดดีมากคร่า

    ตอบลบ
  7. เนื้อหาเยอะมาก อ่านเข้าใจง่ายดี

    ตอบลบ
  8. เนื้อหายาวมั่กมาก

    แต่ก้สวยดีอ่ะนะ

    ตอบลบ
  9. ฮู้....


    เนื้อหาโครตเย๊อะอ่า



    ละเอียดเกิ๊น



    แต่มีสาระ

    ตอบลบ